ไม่เพียงแค่เป็นกิ้งก่าหน้าตาประหลาด ที่หาดูไม่ได้ในเมืองไทยแล้ว "กิ้งก่าบาซิลิสก์" ยังเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่วิ่งบนน้ำได้อย่างน่าทึ่ง ภาพที่หาดูได้ยากนี้มีให้ดูฟรีใน "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์"
เจ้ากิ้งก่าบาซิลลิสก์ (Basilisk) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกแห่งอเมริกากลางและอเมริกาใต้ คงสร้างความฉงนให้กับใครๆ ที่ได้เห็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดโตเต็มวัยได้ถึง 80 เซนติเมตรนี้ วิ่งฉิ่วบนผิวน้ำโดยไม่จม และเพื่อไขปริศนาว่าเจ้าสัตว์เลื้อยคลานนี้เคลื่อนที่ไปบนผิวน้ำได้อย่างไร ทีมสารคดีของสถานีเอ็นเอชเค (NHK) แห่งญี่ปุ่นจึงได้แบกกล้องที่มีความเร็วชัตเตอร์ 1 ในล้านวินาทีไปบันทึกภาพกิ้งก่าที่ริมบึงประเทศคอสตา ริกา
ภาพจากกล้องคุณสมบัติพิเศษนี้ เอ็นเอชเคนำมาเผยแพร่ผ่านสารคดีมหัศจรรย์ธรรมชาติ ตอน กิ้งก่าบาซิลิสก์ (Nature Wonder Land II: Lizard Dashing on Water – Basilisk, Costa Rica) ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ (Science Film Festival) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 พ.ย.51 นี้ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์และเยาวชนจำนวนหนึ่งได้รับชมภาพยนต์เรื่องนี้ที่จัดฉาย ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เอกมัย)
รูปลักษณ์ภายนอกของกิ้งก่าบาซิลลิสก์ จะมีเกล็ดเขียว-ขาว-ดำ มีครีบบนหลังเหมือนปลา และสำหรับตัวผู้จะมีหงอนเพิ่มขึ้นมาด้วย เจ้ากิ้งก่าชนิดนีจะอาศัยอยู่ริมน้ำ เมื่อฟักออกจากไข่แล้วต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเอง เนื่องจากพ่อ-แม่จะไม่ดูแล ดังนั้นการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ออกจากไข่จึงช่วยให้สัตว์ชนิดนี้รวดพ้นจากนักล่าที่มีอยู่ชุกชุมในน้ำได้
หากมองด้วยสายตาปกติ เราแทบจะไม่เห็นว่ากิ้งก่าบาซิลลิสก์เคลื่อนที่ไปบนผิวน้ำด้วยท่าทางแบบใด แม้แต่กล้องที่ใช้กันทั่วไปก็ไม่สามารถบันทึกการเคลื่อนไหวที่มีความเร็ว 18 เมตรต่อวินาที หรือเกือบ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อวิเคราะห์ด้วยกล้องที่มีความเร็วชัตเตอร์เป็นพิเศษ เราได้เห็นภาพกิ้งก่าเคลื่อนที่บนผิวน้ำได้ถึง 5 ก้าว ในเวลา 0.25 วินาที หรือเพียงแค่เรากระพริบตาครั้งเดียว
ทั้งนี้จังหวะในการเปลี่ยนก้าวของกิ้งก่าบาซิลิสก์ใช้เวลาเพียงแค่ 0.052 วินาที ซึ่งการเคลื่อนที่อันรวดเร็วนี้ อุ้งเท้าของเจ้าบาซิลิสก์จะฟองอากาศลงไปในน้ำด้วย จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายสรุปได้ว่ามีพลังงาน 3 อย่างที่ช่วยพยุงตัวไม่ให้กิ้งก่าบาซิลลิสก์จมน้ำ คือ แรงบาซิลิสก์ ซึ่งเกิดจากเท้ากระทุ้งผิวน้ำทำให้เกิดแรงพยุงตัว แรงต้านทานและแรงลอยตัวจากอากาศที่ช่วยพยุงเจ้ากิ้งก่าไว้ไม่ให้จม โดยกิ้งก่าจะจุ่มเท้าอีกข้างก่อนที่แรงจะหมด
ไม่ต้องอิจฉาเจ้ากิ้งก่าไป เพราะคนเราก็อาศัยหลักการเดียวกันนี้เคลื่อนที่บนน้ำได้ โดยนักวิจัยสหรัฐฯ คำนวณว่า ผู้ชายหนัก 80 กิโลกรัมจะวิ่งไปบนผิวน้ำได้ต้องวิ่งให้เร็ว 106 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ว่าแต่ใครจะทำได้ล่ะ?