xs
xsm
sm
md
lg

ม.อุบลฯสนองพระราชเสาวนีย์รักษ์ป่าพัฒนาป่าชุมชนสวนพฤกษศาสตร์ 175 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อุบลราชธานี - มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี น้อมนำพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดทำสวนพฤกษศาสตร์เนื้อที่ 175 ไร่เป็นป่าชุมชนอนุรักษ์พรรณไม้และพันธุ์สัตว์หายากนานาชนิด พร้อมเปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีป่ากับชีวิตมนุษย์

วันนี้ (15 ส.ค.) ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์บนพื้นที่ 175 ไร่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นป่าชุมชนและเป็นป่าอนุรักษ์พรรณไม้และพันธุ์สัตว์นานาชนิด ว่า ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้คนไทยร่วมกันรักษาป่าและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่น้อยในประเทศไทยให้มีมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้มนุษย์

โดยมหาวิทยาลัยได้น้อมนำพระราชประสงค์มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้ปรับสภาพพื้นป่ารกร้างเสื่อมโทรมรอบบริเวณหนองกระทา และหนองร่องก่อ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีสภาพสมบูรณ์เหมือนในอดีต พร้อมสร้างความร่วมมือกับชุมชนที่อาศัยอยู่ติดพื้นป่าให้เห็นความสำคัญการมีป่าต้นน้ำไว้สร้างความชุ่มชื้นให้ดินให้ป่าเป็นแหล่งอาหาร

โดยหยุดการตัดไม้ไปทำฟืน และให้ป่าเป็นแหล่งใช้เรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา เพราะปัจจุบันมีป่าเหลือให้ใช้ศึกษาทางกายภาพน้อยลงทุกที โดยภาคอีสานปัจจุบันมีป่าเหลืออยู่ราว 12% ของพื้นที่ทั้งหมด

อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต่อว่า การอนุรักษ์ป่าตามกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงมีประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังอย่างยิ่ง สำหรับพื้นป่าที่ถูกนำมาจัดทำเป็นสวนพฤกษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นอกจากให้นักศึกษาใช้เป็นที่ศึกษาทางกายภาพแล้ว ยังให้โรงเรียนในเครือข่ายและชุมชนที่สนใจศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมาร่วมใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย

ด้าน ผศ.แก้ว อุดมศิริชาคร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ค้นคว้าสิ่งมีชีวิตในพื้นป่าสวนพฤกษศาสตร์ กล่าวว่า พื้นป่าของมหาวิทยาลัยมีพรรณไม้อยู่กว่า 100 ชนิด และเกือบทั้งหมดมีคุณสมบัติเป็นพืชสมุนไพร ส่วนหนึ่งยังเป็นพันธุ์ไม้โบราณ เช่น มะเมื่อย ซึ่งเป็นพืชให้เมล็ดแต่ไม่มีผลและพบมากเฉพาะในภาคอีสาน

นอกจากพรรณไม้ที่มีอยู่จำนวนมากแล้ว ยังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มต่างๆ ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานมีถึง 21 ชนิด โดยเฉพาะงูพบมากถึง 13 ชนิดจาก 176 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย

ส่วนสัตว์ในกลุ่มสะเทินน้ำสะเทินบกมีถึง 13 ชนิด อาทิ กบ เขียด มีถึง 6 ชนิด และอึ่งมี 3 ชนิด จาก 15 ชนิดในประเทศไทย และยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ปีกอีกหลายชนิด ดังนั้นพื้นป่าอนุรักษ์แห่งนี้ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากเหมาะแก่การเข้ามาศึกษาหาความรู้

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงจัดให้มีจุดชมต้นไม้และชมนกจำนวน 11 จุด เพื่อใช้ศึกษาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองไม่ต้องเดินทางไกลด้วย
สวนพฤกษศาสตร์บนพื้นที่ 175 ไร่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นป่าชุมชนและเป็นป่าอนุรักษ์พรรณไม้และพันธุ์สัตว์นานาชนิดว่า ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้คนไทยร่วมกันรักษาป่าและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่น้อยในประเทศไทยให้มีมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้มนุษย์

กำลังโหลดความคิดเห็น