วช.ประกาศรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 3 สาขา 45 รางวัล มอบ "นักวิจัยดีเด่น" นักวิจัยนาโน-แพทย์ทาลัสซีเมียตบเท้าเข้ารับรางวัลดีเด่น พร้อมเผยรายชื่อผู้ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเยี่ยม" และ "วิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม”
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศรางวัลสภา วิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 เมื่อวันทีี่ 19 พ.ย.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วม โดย ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระบุมีทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยและรางวัลวิทยานิพนธ์
สำหรับผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2551 จะได้รับเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมเหรียญนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณในงานวันประดิษฐ์ ประจำปี 2552 ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี ได้แก่
รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ซึ่งอุทิศตนให้กับงานวิจัยด้านการวิเคราะห์เชิงโมเลกุล งานวิจัยด้านวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ โครงการวิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ทำงานด้านการวิจัยโรคธาลัสซีเมียมากกว่า 30ปี
ศ.ดร.มนัส พรหมโคตร จากมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ผู้อุทิศตนทำงานด้านการพัฒนาเคมีอินทรีย์ของประเทศ อันมีคุณค่าต่อวงการศึกษา รวมทั้งเป็นผลงานวิจัยดีเด่นที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีผลกระทบสูงต่อวงการเคมีอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ผู้วิจัยเกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำ ทั้งด้านองค์ความรู้ของสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำต่าง ๆ
ศาสตราจารย์ ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมวิจัย ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์เคมีแบบหลายหน้าที่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทพลังงานหรือน้ำมัน
สำหรับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การป้องกันภาวะไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้าย : ยุทธศาสตร์แนวใหม่ของไทย (Prevention of End – Stage Renal Disease : Thai Innovative Strategy) ของ ศ. ดร.พญ.นริสา ฟูตระกูล และ รศ.ดร.พรรณี บุตรเทพ ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลงานวิจัยเรื่อง “การตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคทอร่าในกุ้งแบบใหม่โดยการผนวกเทคนิค LAMP ร่วมกับเทคนิค LFD” (Detection of Taura Syndrome Virus Using Combination of Loop – Mediated Isothermal Amplification (LAMP) and Lateral Flow Dipstick (LFD) Techniques) ของ นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย, นายวันเสด็จ เจริญรัมย์ และ นายณรงค์ อรัญรุตม์ ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดี (ระหว่างปี พ.ศ. 2520 – 2525) ร่วมกับข้อมูลด้านศิลาจารึกและประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยสุโขทัย เพื่อการวิจัยหาประเด็นใหม่ทางวิชาการ” (The Analysis of Results from Sukhothai’s Archaeological Excavations, Inscriptions and Art History’s Former Researchers for New Academic Trends) ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ในสาขาปรัชญา
ผลงานวิจัยเรื่อง “การทดสอบเรื่องผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายขนาดการผลิต (Increasing Returns) ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในระดับจังหวัด” (Increasing Returns in Provincial Manufacturing Production) ของ ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ในสาขาเศรษฐศาสตร์
พร้อมรางวัลชมเชยอีก 14 รางวัล ทั้งนี้ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในแต่ละสาขาวิชาการจะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณและเงินรางวัล โดยรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ได้รับรางวัลละ 200,000 บาท และรางวัลผลงานวิจัยชมเชยได้รับรางวัลละ 50,000 บาท
สำหรับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเยี่ยม จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ - วิทยานิพนธ์เรื่อง “การเตรียมและการหาลักษณะเฉพาะของเซรามิกนาโนคอมโพสิตในระบบพีแซตที – บีทีและระบบไทเทเนียมออกไซด์ – ทินออกไซด์” (Preparation and Characterization of Ceramic Nanocomposites in the PZT – BT and TiO2 – SnO2 Systems) ของ ดร.วรรณวิลัย ไชยสาร วิทยานิพนธ์ของ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ - วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาเชิงโครงสร้างของการเริ่มสังเคราะห์โปรตีน โดย Internal Ribosomal Entry Site ของไวรัสตับอักเสบซี” (Structural Studies of Translation Initiation by the Internal Ribosomal Entry Site of Hepatitis C Virus) ของ ดร.บรรพต ศิริเดชาดิลก
วิทยานิพนธ์ของ : มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) สหรัฐฯ
สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช - วิทยานิพนธ์เรื่อง “การใช้สารสังเคราะห์เพื่อเลียนแบบตัวตอบรับบนผิวเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสำหรับใช้เป็นตัวส่งสารเคมีและโมเลกุลขนาดใหญ่เข้าไปในเซลล์” (Synthetic Mimics of Mammalian Cell Surface Receptors) ของ ดร.ศิวรัตน์ บุณยรัตนกลิน
วิทยานิพนธ์ของ : มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียสเตท (The Pennsylvania State University) สหรัฐฯ
สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา - วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาคุณสมบัติของยีน SOD ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อ Oxidative Stress และความสามารถในการก่อให้เกิดปมของเชื้อ Agrobacterium Tumefaciens” (Characterization of SOD genes Involved in Oxidative Stress Response and Tumor Formation in Agrobacterium tumefaciens) ของ ดร.ปนัดดา แสนคำ
วิทยานิพนธ์ของ : มหาวิทยาลัยมหิดล
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย - วิทยานิพนธ์เรื่อง “โครงข่ายประสาทเทียมสำหรับการประมวลผลขั้นต้นและการควบคุมของหุ่นยนต์ที่เดินด้วยขาซึ่งสามารถตอบโต้ต่อสภาพแวดล้อม” (Neural Preprocessing and Control of Reactive Walking Machines) ของ ดร.ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์
วิทยานิพนธ์ของ : มหาวิทยาลัยซีเกน (University of Siegen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี
พร้อมด้วยวิทยานิพนธ์รางวัลชมเชย จำนวน 17 เรื่อง โดยวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลในแต่ละสาขาวิชาการจะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณและเงินรางวัล วำหรับวิทยานิพนธ์รางวัลดีเยี่ยมได้รับรางวัลละ 80,000 บาท และวิทยานิพนธ์รางวัลชมเชย ได้รับรางวัลละ 20,000 บาท
สำหรับพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 :ทั้ง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยและรางวัลวิทยานิพนธ์ จะมีขึ้นในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2552 ณ อิมแพคเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี็
ทั้งนี้ ศ.อานนท์ บุญรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รางวัลสภาวิจัยจะเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักวิจัย และเป็นโอกาสดีที่เราจะได้หันมามองนักวิจัยซึ่งเปรียบเสมือนผู้ปิดทองหลังพระ ซึ่งอยู่เบื้องหลังสิ่งที่ประชาชนได้รับจากการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.