xs
xsm
sm
md
lg

Resource Allocation

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
ณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด 0-2686-9500

“การจัดสรรทรัพยากร” ฟังดูเหมือนจะเชย แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่จะได้อ่านบทความนี้ เนื่องจากทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องมีการจัดสรรให้เหมาะสมและให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรนั้น คำว่า Resource หรือ ทรัพยากร มีความหมายได้ในหลายนัยและหลายระดับ เช่น ในระดับโลกหรือประเทศ ก็อาจจะเป็น Natural Resources หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร ภูเขา หรือ แร่ธาตุต่างๆ ล้วนมีความจำเป็นในการจัดสรรการใช้ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว รวมทั้งการอนุรักษ์เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อตลอดนานเท่าที่จะเป็นได้

ในระดับรัฐบาล ก็มีการจัดสรรที่ทำกินให้กับชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญในการจัดสรร โดยจะต้องเน้นผลประโยชน์ที่ตกกับประชาชนหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่ว่าผลประโยชน์ไปตกกับผู้มีอำนาจในการจัดสรรหรือเครือญาติ ในระดับบริษัทก็เช่นกันจะต้องมีการจัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับเนื้องานในแต่ละส่วนงาน ไม่มีการแบ่งพรรคพวก หรือจัดสรรตำแหน่งส่วนเกินให้กับพวกของตน ในขณะที่จัดสรรตำแหน่งน้อยเกินไปให้กับส่วนงานอื่น นอกจากจำนวนบุคคลากรแล้ว คุณสมบัติของบุคลากรก็สำคัญจะต้องคัดสรรให้ถูกต้องเหมาะสมกับเนื้องาน ไม่ใช่รับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์มารับผิดชอบในตำแหน่งที่สำคัญ

พนักงานของบริษัทถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ฉะนั้นการพิจารณาเพื่อรับให้เข้ามาเป็นพนักงานของบริษัทต้องคัดสรรอย่างดีให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ (Recruit & Select) ไม่ใช่รับเพียงเพราะว่าเป็นพวกพ้องหรือคนเคยรู้จักกัน และเมื่อได้พนักงานที่เหมาะสมดีแล้ว สิ่งที่จะต้องทำเช่นเดียวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือการรักษาให้พนักงานนั้นอยู่กับบริษัทนานเท่าที่จะนานได้ (Maintain) โดยให้ความยุติธรรมในการบังคับบัญชาหรือการกำหนดปริมาณงาน รวมทั้งการให้รางวัลหรือการทำโทษตามผลการทำงานของพนักงาน (Reward & Penalize)

เงินลงทุนของท่านผู้อ่านก็เช่นกันถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ฉะนั้นการจัดสรรเงินลงทุนโดยการพิจารณาเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อบริหารเงินลงทุนของท่าน จะต้องพิจารณาคัดสรรอย่างดีเช่นกัน โดยท่านอาจจะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกจากผลการดำเนินงานในอดีต ความสะดวกในการใช้บริการ การบริการหลังการขาย ความมั่นคงของบริษัท และคุณภาพของพนักงาน เมื่อเลือกได้แล้วก็ลองใช้บริการดู ถ้าเป็นไปตามที่ได้คาดหวังไว้ก็ใช้บริการและเพิ่มปริมาณเงินลงทุน แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ก็คงต้องลดเงินลงทุนหรือย้ายไปหาบริษัทใหม่แทน

แต่ถ้าผู้ลงทุนเลือกที่จะลงทุนเอง ก็จะต้องศึกษารายละเอียดในหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะไปลงทุน รวมทั้งมีเวลาในการติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อราคาของหลักทรัพย์นั้น ๆ หรือจะต้องมีการประมาณการผลตอบแทนของแต่ละหลักทรัพย์ (Return) ในขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนในแต่ละหลักทรัพย์ (Risk) เมื่อนำผลตอบแทนและความเสี่ยงมาพิจารณาร่วมกัน ก็จะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ประมาณการ โดยมีความเสี่ยงที่อยู่ในระดับที่รับได้

แนวทางในการลงทุนแบบเดิม ๆ จะให้ความสำคัญกับการจัดสรรหลักทรัพย์ (Asset Allocation) ด้วยการประมาณการผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ก่อน แล้วค่อยมาวัดว่าความเสี่ยงที่ลงทุนไปมีค่ามากน้อยเท่าใด (Returns lead Risks) ขอแนะนำแนวทางในการลงทุนแบบใหม่ คือกำหนดค่าความเสี่ยงที่ต้องการขึ้นมาก่อน แล้วค่อยหาหลักทรัพย์มาลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ค่าความเสี่ยงที่กำหนด (Risks lead Returns) หากประสงค์จะติดต่อผู้เขียนสามารถส่งมาได้ที่ n9l99@yahoo.com (เอ็นเก้าแอลเก้าเก้า)

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”
“ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”

กำลังโหลดความคิดเห็น