xs
xsm
sm
md
lg

"มิตรผล" ตั้งธงวิจัยน้ำตาลหวานมาก-แคลอรีต่ำแค่ 2 แคลอรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างน้ำตาลมิตรผล และมีดที่ได้รับการพัฒนาให้ลดแรงสะเทอนจากการตัดอ้อย โดยพัฒนาเนื้อเหล็กของใบมีดและออกแบบให้มีความโค้งมากขึ้น ร่วมทั้งพัฒนายางด้ามจับ ซึ่งช่วยลดอาการ มือล็อค จากการตัดอ้อยของชาวไร่ได้
มิตรผลตั้งเป้าพัฒนาน้ำตาลแคลอรีต่ำ แค่ 2 แคลอรีแต่ความหวานสูง พร้อมคุณสมบัติเป็นกากใยอาหาร ไม่ย่อยและช่วยดึงไขมันบางส่วนออกจากร่างกาย โดยจะเป็นบริษัทที่ 5 ของโลกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ แจงหากไม่ทำก็ต้องนำเข้าเทคโนโลยี

ภายในการเสวนา "อุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวไกลด้วยทีเอ็มซี" ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมด้วยนั้น ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ผู้ร่วมเสวนาเปิดเผยว่า ทางมิตรผลได้เริ่มวิจัยและพัฒนาน้ำตาลที่ให้แคลอรีน้อยแต่มีความหวานมาก ซึ่งต่างจากสารให้ความหวาน เพราะเป็นน้ำตาลและเป็นสารธรรมชาติ

"เราจะพัฒนาน้ำตาลที่มีความหวานมาก แต่มีแคลอรีต่ำ จากเดิมที่น้ำตาล 1 กรัมให้ 4 แคลอรี ก็จะทำให้ได้ 2-3 แคลอรี และยังเป็นน้ำตาลที่มีคุณสมบัติเป็นกากใยอาหารที่กินแล้วไม่ย่อย แต่ช่วยดึงไขมันบางส่วนออกจากร่างกายด้วย ซึ่งกระบวนการผลิตนั้น จะอาศัยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโครงสร้างโมเลกุล ทั้งนี้ในโลกมีเพียง 4 บริษัทที่มีเทคโนโลยีในการผลิตน้ำตาลความหวานสูงแต่แคลอรีต่ำ และเราจะเป็นบริษัทที่ 5 เพราะหากเราไม่ทำก็ต้องซื้อเทคโนโลยีเขามา" ดร.พิพัฒน์กล่าว

นอกจากนี้มิตรผลยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีก อาทิ งานวิจัยเพื่อให้ได้อ้อยที่ให้ปริมาณน้ำตาลมากขึ้น งานวิจัยใบมีดและยางหุ้มด้ามมีดตัดอ้อย ซึ่งช่วยลดอาการ "มือล็อค" ในชาวไร่อ้อย เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากการตัด โดยที่ผ่านมาชาวไร่จะใช้ยางในของรถมอเตอร์ไซค์พันรอบด้ามมีด แต่บริษัทได้พัฒนาด้ามจับและออกแบบใบมีดให้มีความโค้งมากขึ้นเพื่อลดแรงสั่นทะเทือน พร้อมพัฒนาเนื้อเหล็กของด้ามมีดให้มีความทนทานขึ้น 20%

อีกทั้งยังมี งานวิจัยจุลินทรีย์ในดินที่ช่วยตรึงไนโตรเจนและปลดปล่อยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในดิน เพื่อลดการใช้ปุ๋ย ซึ่งเดิมต้องซื้อจุุลินทรีย์ดังกล่าวจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันพบจุลินทรีย์ดังกล่าวภายในห้องปฏิบัติการแล้ว เป็นต้น

"มีข้อมูลว่า ไทยซื้อเครื่องจักรเข้ามาปีละ 1.5 แสนล้านบาท ถ้าไทยไม่เน้นการวิจัยและพัฒนา เราก็จะซื้อเขาตลอดไป ตอนนี้เกษตรและอาหารจะเป็นธงนำในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างมูลค่าได้" ดร.พิพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ทางมิตรผลอาศัยกลไกความช่วยเหลือในการสร้างงานวิจัยของทีเอ็มซีเกือบทั้งหมด โดยที่ผ่านมาได้ร่วมวิจัยและพัฒนากับนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของ สวทช. ผ่านความช่วยเหลือของทีเอ็มซี

ด้าน ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวถึงกลไกในการให้บริหารและเครื่องมือต่างๆ ที่สอดคล้องความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย เงินกู้ดอกเบี้ต่ำเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีในโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี การรองรับโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย และอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย

"ขอยกคำกล่าวของแคนาดาที่บอกไว้ว่า นักวิจัยแปลงเงินเป็นความรู้ และนักธุรกิจแปลงความรู้เป็นเงิน ทั้งนี้เมื่อนักวิจัยนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างความรู้แล้ว ก็ส่งต่อให้กับนักธุรกิจเพื่อเปลี่ยนความรู้เป็นเงิน หากประเทศใดไม่มีครบทั้ง 2 ส่วน ประเทศก็จะเดินต่อไปไม่ได้" ศ.ดร.ชัชนาถกล่าวและบอกว่าภารกิจของทีเอ็มซีคือช่วยให้อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารไทย ศ.ดร.ชัชนาถได้กล่าวให้เห็นภาพว่าปี 2550 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรมีสัดส่วนในการส่องออกถึง 16% ซึ่งสรางมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านบาท และในสัดส่วนดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าประมงมูลค่า 1.9 แสนล้านบาท ผัก-ผลไม้ 7.1 หมื่นล้านบาท และน้ำตาล 4.5 หมื่นล้านบาท ทางทีเอ็มซีจึงมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ.
ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร
ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผัก-ผลไม้ของเอ็มเทค ที่ได้รับการสนับสนุนยื่นจดสิทธิบัตรจากทีเอ็มซี
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ (ภาพจากทีเอ็มซี)
บรรยากาศการเสวนา
กำลังโหลดความคิดเห็น