xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยมหนูๆ เรียนรู้ไอทียามป่วยที่ "รพ.เด็ก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนูน้อยที่ต้องค้างคืนอยู่โรงพยาบาล ใช้คอมพิวเตอร์ภายในศูนย์ไอที
ถ้าต้องนอนป่วยอยู่โรงพยาบาลหลายวัน หนูๆ จอมซนคงเบื่อไม่น้อย ที่สำคัญอาจเรียนไม่ทันเพื่อน แต่โครงการ "ไอที" ในสมเด็จพระเทพฯ ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ทันเพื่อน อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ฝึกเด็กที่เรียนรู้ช้าและสมาธิสั้นได้ด้วย

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้นำคณะสื่อมวลชนพร้อมด้วยผู้จัดการวิทยาศาสตร์เยี่ยมชมโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เมื่อวันที่ 11 พ.ย.51 โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งนำร่องโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากนั้นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเลิดสินและโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้เข้าร่วมในเวลาต่อมา

ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล และรองผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โครงการนี้เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเห็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ทุกคน

"เด็กป่วยที่อยู่โรงพยาบาลนานๆ ไปโรงเรียนไม่ได้ ถ้ามีคอมพิวเตอร์จะช่วยให้เรียนรู้ระหว่างเจ็บป่วยได้ โดยเป้าหมายคือเด็กที่ต้องอยู่ค้างที่โรงพยาบาล อาจเป็นเด็กที่อยู่ 3-5 วัน หรือเด็กที่ต้องอยู่นานๆ อย่างเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งหรือได้รับการผ่าตัด ซึ่งต้องมีครูสอนเด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง แต่พระองค์ทรงเห็นว่าครูมีน้อย แต่เด็กเยอะ ถ้ามีคอมพิวเตอร์ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระครุได้ และยังทำให้เด็กลืมความเจ็บปวดได้" ดร.ชฏามาศกล่าว

สำหรับสื่อทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีนั้น มีทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊คส์ ซีดีสื่อการเรียนมัลติมีเดีย และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้จากทั้งการจัดหาให้โดยโครงการฯ ได้รับความอนุเคาะห์จากกระทรวงศึกษาธิการ และแพทย์เป็นผู้จัดหามาให้

นอกไปจากการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กป่วยทางร่างกายแล้ว โครงการนี้ยังได้เริ่มให้บริการแก่เด็กที่มีความบกพร่องของทักษะการเรียนหรือแอลดี (Learning Disorder: LD) เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) และเด็กปัญญาอ่อนระดับน้อย

นางปิยะนาถ คุรุรัตนากร ครูการศึกษาพิเศษ สังกัดศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับหน้าที่สอนเด็กพิเศษในโครงการนี้ กล่าวว่าโครงการฯ เริ่มให้บริการไอทีแก่เด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องเมื่อเดือน ก.ค.51 โดยรูปแบบของไอทีที่ใช้จะเป็นโปรแกรมที่ไม่น่าเบื่อสำหรับเด็ก ซึ่งไอทีเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กสนใจการเรียนรู้ และไม่ใช้โปรแกรมที่ยาก

"อย่างโปรแกรมผสมคำ ที่มีสระและอักษรให้เด็กเลือกผสม เริ่มจากสิ่งสระที่เขารู้จัก เช่น สระอา ก็ให้ผสม กา อา งา จากนั้นค่อยผันวรรณยุกต์ด้วยเทคนิคการใช้เสียง เท่าที่ดูเขาก็แฮปปี้กันทุกคน" ครูสอนเด็กพิเศษกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ และบอกว่ามีเด็กที่ต้องดูแลราว 50 คน ทั้งนี้ไม่ได้สอนเป็นประจำ แต่จะประเมินเด็กว่าต้องดูแลเรื่องไหนเป็นพิเศษ กรณีที่เด็กต้องมาพบก็จะช่วยฝึกทักษะเบื้องต้น แล้วแนะนำผู้ปกครองให้ฝึกเด็กต่อที่บ้าน และยังแนะนำให้เพิ่มกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ศิลปะและกีฬา เป็นต้น แก่เด็กพิเศษเหล่านี้ด้วย

"อย่างน้อยที่สุด ให้ผู้ปกครองได้เข้าใจว่าลูกเป็นอะไร และผู้ปกครองจะได้บอกกับทางโรงเรียนให้เข้าใจว่าต้องดูแลเด็กอย่างไร เพื่อลดความกดดันแก่เด็ก ที่เจอมาพบว่าผู้ปกครองทุกคนหยุดตีเด็ก หยุดกดดันเด็กว่าทำไมเรียนไม่รู้เรื่อง เด็กก็แฮปปี้ ครอบครัว โรงเรียนก็แฮปปี้" นางปิยะนาถกล่าว

สำหรับโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลนี้ ได้ขยายไปโรงพยาบาลในภูมิภาคอื่นๆ อีก ได้แก่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจบุรี โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ในวันที่ 20-22 พ.ย.51 จะมีงาน "12 ปี รัตนราชสุดา สารสนเทศ " ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ซึ่งภายในงานจะนำเสนอผลการดำเนินงานที่เด่นๆ ของแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งการเข้าร่วมงานของเด็กป่วย ทั้งเด็กที่กำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลและเด็กที่หายป่วยแล้ว และเด็กๆ เหล่านั้นจะได้นำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการด้วย.
คุณครูในโครงการกำลังสอนเด็กหญิงซึ่งป่วยด้วยโรคกระดูก
ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล กับเด็กป่วยที่กำลังใช้งานไอที
ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล (ภาพทั้งหมดจากเนคเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น