xs
xsm
sm
md
lg

ท่องโลกสีเงิน เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากวิวัฒนาการของเงินตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการ โลกสีเงิน ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แฝงอยู่ในเงินตรา ปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
หยิบจับเงินทีไร ถ้าไม่นึกถึงมูลค่าที่ถูกตีตราอยู่บนเงินเหรียญหรือเงินกระดาษ ก็ต้องนึกถึงสิ่งของ ที่เรากำลังนำเงินในกระเป๋า ไปแลกเปลี่ยนกลับมา แต่เบื้องหลังเงินตราเหล่านี้ยังมีเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าเรียนรู้แฝงอยู่มากมาย และใครหลายคนอาจคาดไม่ถึง

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดแสดงนิทรรศการ "โลกสีเงิน" ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เพื่อนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แฝงอยู่ในเงินตรา โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านวิวัฒนาการของเงินและธนาคารในประเทศไทยสมัยต่างๆ ซึ่งมีพิธีเปิดงานไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย.51 ที่ผ่านมา

นิทรรศการโลกสีเงิน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ วิทยาศาสตร์ในโลกสีเงินยุคแรกเริ่ม ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเงินตราในอดีต, ยุคปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของเงินตราในรูปแบบต่างๆ และเงินตราอนาคตของ ที่อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นายมานพ อิสสะรีย์ รอง ผอ.อพวช. เล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า เงินเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราโดยตรง และเงินก็มีเนื้อหาความรู้วิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่ จึงอยากส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนมีความรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งใกล้ตัว ไม่ว่าจะหยิบจับอะไร สิ่งนั้นก็เป็นสื่อของการเรียนวิทยาศาสตร์ได้

"คนส่วนใหญ่มักรู้แค่ว่า หอยเบี้ยเคยถูกใช้เป็นเงินในยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วหอยยังมีอีกมากมายหลายชนิด และธรรมชาติของหอยก็มีความน่าสนใจมาก เมื่อเรารู้จักหอยเบี้ยมากขึ้น ก็อาจช่วยกระตุ้นให้เราอยากรู้เรื่องของหอยชนิดอื่นมากขึ้น เราก็สามารถศึกษาค้นคว้าต่อยอดได้" นายมานพ เล่า

ประเทศไทยใช้หอยเบี้ยเป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยนสินค้ามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งเรียกว่า "เบี้ยหอย" สันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากการติดต่อค้าขายในสมัยก่อนที่ใช้เส้นทางการเดินเรือเป็นหลัก หอยเบี้ยที่มีสีขาวขุ่นเหลือบทองและมีความแวววาวสวยงามเป็นลักษณะเด่น จึงถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า

ทว่าหอยเบี้ย มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน ขาดความเป็นมาตรฐาน ทำให้เกิดการปั่นราคา และการเก็บรักษาก็ยากลำบาก ความนิยมใช้เบี้ยหอยจึงค่อยๆ ลดลงจนหมดไป และถูกแทนที่ด้วยเงินตราที่ทำจากโลหะ เช่น เงิน และทอง ที่มีความมันวาว สามารถนำมาหลอมและขึ้นรูปใหม่ได้โดยที่คุณสมบัติเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจนเกิดสนิม จึงมีคุณค่าในตัวเอง และสามารถจัดการให้มีมาตรฐานเดียวกันได้ จึงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

"คนไทยนำโลหะเงินมาขึ้นรูปให้มีลักษณะเฉพาะ โดยทำให้ปลายทั้ง 2 ข้างงอเข้าหากัน และประทับตราของพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเงินพดด้วง ซึ่งมีการนำเอามาตรวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เงินมีมาตรฐานเดียวกัน โดยเงิน 1 บาทของไทยในสมัยก่อน มีน้ำหนักเท่ากับเนื้อโลหะเงินหนัก 1 บาท (15.16 กรัม) จริงๆ" รอง ผอ.มานพ เล่า

ต่อมาโลหะเงินเริ่มหายากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้ต้องเริ่มนำเอาโลหะชนิดอื่นมาผสม จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องปั๊มเหรียญกษาปณ์ และผลิตเหรียญกษาปณ์จากโลหะผสมต่างๆ ใช้เป็นครั้งแรก ทำให้เงินพดด้วงทุกชนิดถูกยกเลิกใช้ไปในที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5

ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตเหรียญกษาปณ์ จะต้องผสมโลหะตามอัตราส่วนที่กำหนด นำไปหลอมแล้วรีดเป็นแผ่น และอบที่อุณหภูมิสูงจนกระทั่งอ่อนตัวลง จึงตอกด้วยเครื่องตีตราแรงดันสูง จะได้เหรียญกษาปณ์ที่มีลวดลายตามดวงตราต้นแบบ และโลหะที่นำมาใช้ผลิตเหรียญกษาปณ์ ได้แก่ ทองแดง นิกเกิล และ อะลูมิเนียม ซึ่งทำให้เหรียญกษาปณ์มีสีแตกต่างกันไปตามอัตราส่วนที่ผสม

จากเงินเหรียญที่มีน้ำหนักมาก เริ่มพัฒนาไปสู่เงินที่ทำจากกระดาษ เพื่อให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ง่ายต่อการพกพาและเก็บรักษา ประเทศไทยเริ่มใช้ธนบัตรเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5
 
กระดาษที่ใช้สำหรับพิมพ์ธนบัตรจะผลิตจากเส้นใยฝ้าย 75% หรือ 100% เพื่อให้มีคุณลักษณะพิเศษเพื่อยากต่อการปลอมแปลง และต้องคงทน เหนียว ไม่ซับน้ำ แต่ซับหมึกพิมพ์ได้ดี สีไม่เลือนหรือซีดจาง

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ทำให้มนุษย์สามารถบันทึกมูลค่าของเงินตราลงในแถบแม่เหล็กที่อยู่บนบัตรพลาสติกได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการเงินง่ายขึ้น และเดี๋ยวนี้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกผ่านอุปกรณ์รูปแบบต่างๆ ทั้งตู้เอทีเอ็ม โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร

เส้นทางพัฒนาการของเงินตรา มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตลอด ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอย่างหอย การค้นพบแร่ธาตุโลหะที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีการหลอม หล่อ และขึ้นรูปโลหะ การผลิตเงินกระดาษ อันนำไปสู่เทคโนโลยีการพิมพ์และหมึกพิมพ์ที่มีความจำเพาะ ไปจนถึงการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ย่อโลกของการเงินให้เล็กลง

ในอนาคต อาจมีการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้ โดยการฝังชิพลงบนฝ่ามือ เพื่อบันทึกข้อมูลทางการเงินแทนเหรียญ ธนบัตร และบัตร และมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องเห็นเงินก่อนใช้จ่ายหรือเมื่อได้รับมา ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของความปลอดภัยของระบบมากขึ้น

เรื่องราววิทยาศาสตร์ในเงินตราที่น่ารู้ยังมีอีกมากมาย ใครที่สนใจสามารถไปชมและเรียนรู้ได้ในนิทรรรศการโลกสีเงิน ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ ตั้งแต่วัน 3-29 พ.ย.51 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม.
นายมานพ อิสสะรีย์ รอง ผอ.อพวช.
หอยเบี้ย และ เบี้ยหอย
เงินตราที่ทำจากโลหะและตราชั่งที่ช่วยทำให้เงินมีมาตรฐานมากขึ้น
ทดลองทำเหรียญกษาปณ์
ค้นหาความลับของเหรียญด้วยแว่นขยายที่ช่วยให้เห็นความแตกต่างของเหรียญแต่ละประเภท
ตรวจสอบธนบัตรด้วยปากกาว่าของจริงหรือปลอม
ค้นหาปริศนาของธนบัตรที่ใช้หมึพิมพ์ชนิดพิเศษที่ยากต่อการปลอมแปลง
เรียนรู้การทำงานของบัตรแถบแม่เหล็ก โดยทดลองรูดบัตรแถบแม่เหล็กหรือบัตรเอทีเอ็มผ่านครื่องอ่านแล้วสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาททางการเงินมากขึ้นในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น