คอลัมน์ ผู้จัดการคุยกับนักลงทุน ฉบับนี้ เราได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ คุณฉัตรไชย ฉัตรชัยกนันท์ประธานเจ้าหน้าที่สายงานธุรกิจและปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือ ซี.พี. โดยวันนี้ผู้บริหารคนเก่งจะมาเล่าถึงรูปแบบการทำงานของบริษัทว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องราวส่วนตัวโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดสรรเงินว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไรกันบ้าง...
คุณฉัตรไชย เริ่มเล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาของบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด และ โครงการบัตรเงินสดดิจิตอล สมาร์ทเพิร์ส ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มเมื่อประมาณ ปี 2541 ว่า จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการบริหารจัดการเงินสดภายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,000 สาขาในขณะนั้น จึงต้องการหาระบบมาดูแลการบริหารจัดการเงินสด (Cash Management) เพื่อมาคอยควบคุมดูแลระบบการเงินภายในร้าน พัฒนาความสะดวกสบายในระบบปฏิบัติการ ลดความยุ่งยากในการบริหาร ลดต้นทุน และลดปัญหาการขาดแคลนเหรียญ และการทอนเงิน รวมไปถึงเพื่อความปลอดภัยจากการทอนเงิน
โดยคุณฉัตรไชย ที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่สายงานธุรกิจและปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด รับผิดชอบในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ และดำเนินการโครงการนี้มาจนถึงปัจจุบัน โดยหลังจากที่ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นในช่วงปีแรกๆ ได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการบริหารจัดการเงินสดได้อย่างสะดวก ภายใต้เทคโนโลยีสมาร์ทการ์ด ซึ่งโครงการจัดทำบัตรภายใต้เทคโนโลยีสมาร์ทการ์ดนี้ควรจะทำในลักษณะเปิดกว้างให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย มากกว่าที่จะทำเพื่อใช้ในร้านสะดวกซื้อ 7-11 เท่านั้น เพื่อประโยชน์ ของคนไทย สังคมไทย รวมทั้งระบบการเงินของประเทศไทย
“ความคิดริเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ 2541 และบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ดได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คือ ปี 2547 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียน 1,600 ล้านบาท” คุณฉัตรไชย บอก
คุณฉัตรไชย บอกต่ออีกว่า บริษัทสมาร์ทการ์ด เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบ Dual Interface ทำให้สมาร์ทเพิร์ส บัตรเงินสดดิจิตอลสามารถรองรับฟังก์ชั่นการทำงานทั้งแบบ Contact (แบบเสียบบัตร) และ Contactless (แบบแตะบัตร) ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตมาใช้ในโลกปัจจุบัน ซึ่งระบบ Contactless เป็นวิธีการชำระเงินในรูปแบบใหม่ที่แค่แตะบัตรกับเครื่องรับ ก็ทำให้ชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างสะดวก และเสร็จรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที
"สังคมยุคปัจจุบันที่ต้องใช้ชีวิตแบบรีบเร่ง ผู้บริโภคจึงต้องการสิ่งที่จะมาอำนวยความสะดวกและสร้างความรวดเร็วในการดำเนินชีวิตให้แก่ตนเอง ทำให้ปัจจุบันแนวโน้มการใช้บัตรพลาสติกมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิตต่างๆ แต่การใช้บัตรเครดิต ก็ยังไม่สามารถใช้ได้กับทุกกิจกรรมประจำวันของผู้บริโภคทั่วไป เช่นการซื้อของในร้านสะดวกซื้อ การไปดูหนังฟังเพลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไลฟ์สไตล์ของวิถีชีวิตของคนและเป็นแนวโน้มว่าประเทศไทยจะมีการใช้บัตรเงินสดมากขึ้น"
เอาละ…เราได้รับรู้รูปแบบการทำงานของบริษัทกันมาพอสมควรแล้ว ตอนนี้เราลองมาดูในเรื่องราวส่วนตัวที่เกี่ยวกับเรื่องการออมเงินกันบ้างดีกว่าว่า ผู้บริหารหนุ่มใหญ่ไฟแรงคนนี้จะมีวิธีการเก็บเงินกันอย่างไรบ้าง...
คุณฉัตรไชย บอกว่า หลังจากเรียนจบจากอัสสัมชัญพาณิชย์ โชคดีได้เข้าทำงานทันทีในบริษัทส่งออกผ้า โดยช่วงนั้นได้เงินเดือนๆ ละ 1,800 บาท ตอนแรกๆ ของการทำงานเงินเดือนไม่ค่อยเหลือเก็บ หลังจากผ่านพ้นไปได้ 6 เดือนจากการเริ่มเข้าทำงานจึงเริ่มค่อยๆ เก็บเดือนละประมาณ 300 – 500 บาท
สำหรับวิธีการออมในปัจจุบัน คุณฉัตรไชย บอกว่า เป็นไปตามช่วงอายุเวลา ถ้าเป็นในตอนนี้คงต้องออมเพื่อคนในครอบครัว โดยหลักๆ จะออมทรัพย์เป็นหลัก เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่อุ่นใจ สามารถนำออกมาใช้จ่ายได้ทันทีในยามฉุกเฉิน แล้วยังแบ่งส่วนต่างๆ นำไปซื้อบ้าน และรถยนต์ด้วย เพราะสองสิ่งนี้ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าและเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองด้วย นอกจากนี้ตนเองยังได้แบ่งเงินบางส่วนเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ด้วย เพราะถือเป็นการออมไว้ใช้ในยามที่เราเกษียณอายุ และยังสามารถนำไปลดหย่อนทางภาษีได้อีกด้วย
“ใครที่รู้จักกับการออมเงิน หรือมีเงินออมในบัญชีจะทำให้คนนั้นรู้สึกมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เมื่อเรามีเงินออมเราจะรู้สึกปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด” คุณฉัตรไชย บอก
สุดท้ายคุณฉัตรไชย ฝากบอกว่า ในเรื่องของความเสี่ยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใครที่คิดจะลงทุนทำธุรกิจอะไรก็ตามในช่วงนี้ควรจะต้องคิดอย่างรอบคอบเพราะมีปัจจัยความเสี่ยงสูง เปอร์เซนต์ที่จะประสบความสำเร็จมีมากพอ ๆ กับความล้มเหลว ดังนั้นการชะลอการลงทุนในขณะนี้จึงถึงว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราควรที่จะดูว่าสถานการณ์ทางการเมืองไปในทิศทางไหน และจะส่งผลมายังภาคเศรษฐกิจอย่างไรก่อน จึงแน่ใจได้ว่าสมควรต่อการลงทุน
ชื่อ – นามสกุล ฉัตรไชย ฉัตรชัยกนันท์
วันเดือนปีเกิด 1 พฤษภาคม 2501
จบการศึกษา ประกาศนียบัตร ปริญญาโท
ออฟเซอร์ริ่ง ยูนิเวอร์ซิตี ประเทศอังกฤษ
งานปัจจุบัน ประธานเจ้าหน้าที่สายงานธุรกิจและปฏิบัติการ
บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด