xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ลุ้น 5 ปี คนใช้บัตรแทนเงินสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ชี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า บัตรพลาสติกจะเข้ามามีบทบาทแทนการใช้เงินสดมากขึ้น ในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากแบงก์-นอนแบงก์ แข่งขันเสนอบริการใหม่ๆที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายระบบการชำระเงิน ธปท. ได้คาดการณ์ทิศทางของบริการชำระเงินในอนาคต โดยประเมินว่า การใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเป็นผลมาจากการผลักดันของกลุ่มผู้ให้บริการ ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ ซึ่งมีการแข่งขันและเสนอบริการใหม่ๆ ที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

โดยเฉพาะ บัตรพลาสติก ซึ่งครอบคลุมทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็ม คาดว่าในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า บัตรพลาสติก จะยังมีบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาทดแทนการใช้เงินสดในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการโอนเงินระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้งนี้ ในส่วนของบัตรเดบิตน่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าบัตรเครดิต เนื่องจากมีฐานผู้ใช้บัตรกว้างกว่า ประกอบบัตรเครดิตมีข้อจำกัดเรื่องฐานเงินเดือนของผู้ถือบัตร สำหรับบัตรเอทีเอ็ม คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการที่ธนาคารผู้ออกบัตรพยายามสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้บริการถือบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มมากขึ้น

นอกจากนี้ ในแง่ของเทคโนโลยีของบัตรจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเพื่อดึงดูดความต้องการผู้ใช้บัตรมากขึ้น ทั้งในด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบาย โดยในปี 2551 นี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มออกบัตรที่สามารถใช้บริการได้ทั้งแบสัมผัสและแบบไร้สัมผัส (Contactless cards) ได้ในบัตรเดียวกัน ซึ่งในส่วนของการใช้บัตรแบบไร้สัมผัสจะเหมาะกับการชำระเงินที่ต้องการความรวดเร็วในการทำรายการ และมีมูลค่าต่อรายการไม่สูง เช่น การจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่าการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการชำระเงิน ในการพัฒนาบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้เช็คและเงินสดจะมีความเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงเน้นให้บริการผ่านช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากสามารถถึงผู้ใช้บริการได้กว้างขวางขึ้น และมีต้นทุนต่ำกว่าการเปิดสาขา โดยแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับข้อมูลการใช้บริการบัตรเครดิต ของผู้บริโภคในปี 2550 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีมูลค่าประมาณ 840,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีมูลค่า 755,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเริ่มมีอัตราการขยายตัวที่ลดลง โดยมีอัตราการขยายตัวเพียง 11.3% ลดลงจากปี 2549 ที่มีอัตราการขยายตัวถึง 20.7% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้บัตรมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

ส่วนการใช้บัตรเดบิต ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้เพื่อการเบิกถอนเงินสดในลักษณะเดียวกับบัตรเอทีเอ็มเป็นหลัก โดยการใช้บัตรเพื่อโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการยังมีสัดส่วนที่ต่ำ ดังจะเห็นได้จากปริมาณการใช้บัตรเดบิตในปี 2550 จำนวน 538.29 ล้านรายการ เป็นการใช้เพื่อเบิกถอนเงินสดถึง 79.6%

ขณะที่การใช้บัตรเอทีเอ็ม ในปี 2550 แม้ว่าจะมีปริมาณลดลง 9.7% จาก 632.7 ล้านรายการในปี 2549 เหลือเพียง 571.3 ล้านรายการในปี 2550 แต่ในภาพรวมแล้วมีการใช้บัตรเอทีเอ็มในทิศทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปริมาณธุรกรรมที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการเบิกถอนเงินสดที่ลดลงถึง 14.5% แต่ในส่วนของการโอนเงินและฝากเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มกลับมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 37% และ 15.5% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป ที่มีการใช้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มมากขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระในการเดินทางไปทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น