xs
xsm
sm
md
lg

หลบยังไงก็ได้กลิ่น "จมูกเหนือชั้น" ตอกย้ำ "ทีเร็กซ์" เจ้าแห่งนักล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิ่งเร็ว สายตาเฉียบคม จมูกดมกลิ่นเป็นเลิศ ทำให้เจ้าทีเร็กซ์เป็นราชาแห่งไดโนเสาร์บนแผ่นดินอเมริกาเหนือได้นานหลายสิบล้านปีในยุคครีเตเชียส (รอยเตอร์)
สแกนกะโหลก "ทีเร็กซ์" นักวิจัยพบอาวุธสุดร้ายของราชาไดโนเสาร์นักล่า นอกจากสายตาอันแหลมคมแล้ว ยังมีประสาทการดมกลิ่นอันเหนือชั้น เพราะมีสมองส่วนดมกลิ่นใหญ่กว่า นักล่าขนาดมหึมาตัวอื่นๆ ประกาศศักดาเป็นเจ้าพิภพยุคครีเตเชียส ตามรอยไดโนเสาร์เคราะห์ร้ายได้ไม่ยากแม้ในยามค่ำคืน

เอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่าทีมวิจัยที่นำโดยดาร์ลา ซีเลนนิตสกี (Darla Zelenitsky) มหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) รัฐอัลเบอร์ตา แคนาดา ศึกษาวิจัยสมองของไดโนเสาร์ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex: T. rex) พบว่ามันมีประสาทการดมกลิ่นที่เป็นเลิศ นอกเหนือจากสายตาที่คมกริบ และเป็นนักวิ่งชั้นยอด จึงทำให้มันนักล่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกล้านปีในยุคครีเตเชียสเมื่อราว 65 ล้านปีก่อน

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเจ้าทีเร็กซ์ ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดนี้สามารถวิ่งได้รวดเร็วกว่าคนเสียอีก และมีสายตาแหลมคมยิ่งกว่านกอินทรี จึงทำให้มันสามารถล่าเหยื่อได้เหนือชั้นกว่าไดโนเสาร์นักล่าสายพันธุ์อื่น และจากงานวิจัยล่าสุดด้วยการใช้เครื่องซีทีแสกน (CT scan) สแกนกะโหลกของทีเร็กซ์

นักวิจัยวิเคราะห์ร่องรอยของสมอง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับดมกลิ่นของทีเร็กซ์ (olfactory bulb) พบว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดานักล่าตัวมหึมา ทำให้มันมีประสาทการดมกลิ่นดีเยี่ยมกว่าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ตัวอื่นๆ ที่ศึกษาเปรียบเทียบกัน เช่น ไจแกนโนโทซอรัส (Giganotosaurus) แห่งอเมริกาใต้ และคาร์ชาโรดอนโตซอรัส (Carcharodontosaurus) จากแอฟริกา ซึ่งได้ตีพิมพ์การวิจัยในวารสารราชบัณฑิตยสภาอังกฤษฉบับ บี (British journal Proceedings of the Royal Society B)

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ได้ไม่พูดถึงประสาทการดมกลิ่นอันดีเยี่ยมของทีเร็กซ์เป็นครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกที่มีการนำไปเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นๆ และพบว่าสมองส่วนรับรู้กลิ่นของทีเร็กซ์ใหญ่ที่สุด อาจนับว่าเป็นส่วนที่เป็นพระเอกของมันเลยทีเดียว ซึ่งการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยมนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการล่าเหยื่อยามค่ำคืน

"สันนิษฐานได้ว่า ความสามารถยอดเยี่ยมในการดมกลิ่นของทีเร็กซ์ แสดงว่ามันเป็นหนึ่งในพวกที่ชอบกินซากสัตว์ที่ตายไปแล้วด้วยเหมือนกัน เพราะว่าพวกนี้ จะต้องใช้การดมกลิ่นเพื่อเสาะแสวงหาตำแหน่งที่ตั้ง ของซากสัตว์เน่าเปื่อยทั้งหลาย" คำอธิบายของฟรานซิส เทอร์เรียน (Francois Therrien) หนึ่งในทีมนักวิจัยที่ร่วมศึกษาจากพิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ (Royal Tyrrell Museum) แคนาดา

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ศึกษาวิเคราะห์สมองส่วนดมกลิ่นของไดโนเสาร์กินเนื้ออีกหลายชนิด รวมทั้ง อาร์คีออพเทอริกซ์ (Archaeopteryx) ไดโนเสาร์คล้ายนกในยุคจูแรสสิก เมื่อราว 150 ล้านปีก่อน พบว่ามันมีประสาทส่วนดมกลิ่นดีพอๆ กับการมองเห็นอันยอดเยี่ยมของมัน

"ก่อนหน้านี้เข้าใจกันว่าประสาทการดมกลิ่นไม่สำคัญเท่าการมองเห็นสำหรับนกในโลกดึกดำบรรพ์ แต่จากงานวิจัยนี้พบว่ามันไม่จริงเสมอไป และเป็นไปได้ว่าสัตว์จำพวกนี้ค่อยๆ สูญเสียความสามารถนี้ไปในช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่น่าจะเป็นระยะเวลานานมากหลังจากนั้น" ซีเลนนิตสกี กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น