xs
xsm
sm
md
lg

TMC ต่อยอดงานวิจัยลดของเหลือทิ้ง เชื่อมเอกชนผลิต “ไบโอฟิลเตอร์” จากขี้เถ้าแกลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


TMC เชื่อมเอกชนผลิต “ไบโอฟิลเตอร์” วัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพที่ใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำประมง น้ำทิ้งจากชุมชน หรือแม้กระทั่งน้ำในตู้ปลา ซึ่งไบโอฟิลเตอร์ต้องนำมาจากธรรมชาติ แต่สามารถพัฒนาใช้ “ขี้เถ้าแกลบ” ทำให้น้ำไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนเอกชนนำไปใช้จริง

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)ประธานในพิธีลงนามสัญญาให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย “วัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำทางชีวภาพ” เพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดบำบัดน้ำจากขี้เถ้าแกลบ โดยเป็นการดำเนินงานของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)

รศ.ดร.ศักรินทร์ ผอ.สวทช. กล่าวว่า นับเป็นความน่ายินดี ในการนำของเหลือทิ้งอย่างขี้เถ้าแกลบ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานวิจัยนี้ โดยมีบริษัท ไบโอ-แมส เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโรงงานไฟฟ้า ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก และมีขี้เถ้าแกลบเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ได้แสดงความจำนงที่จะขออนุญาตใช้สิทธิในการผลิตไบโอฟิลเตอร์เพื่อนำไปใช้ผลิตและจำหน่าย โดยบริษัทมีในเครือ ได้แก่ บริษัทสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีในครั้งนี้และมองว่าการนำผลงานวิจัย สวทช.ไปใช้ในภาคเอกชนจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีหน่วยงานอย่าง สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือ TLO ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ร่วมเป็นสื่อกลางระหว่างงานวิจัยและภาคเอกชนในการผลนำงานวิจัยไปต่อยอดสู่ตลาด และคาดหวังว่าการทำงานร่วมกันนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ

ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง นักวิจัยในโครงการนี้ กล่าวว่า ไบโอฟิลเตอร์ เป็นวัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ โดยมีการใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำประมง น้ำทิ้งจากชุมชน หรือแม้กระทั่งน้ำในตู้ปลา ซึ่งช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพย่อยสลายของเสีย และในปัจจุบันมีการใช้วัสดุทดแทนไบโอฟิลเตอร์อยู่หลายประเภท เช่น วงแหวนเซรามิกส์ หินพัมมิส หรือปะการัง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องนำมาจากธรรมชาติ งานวิจัยนี้จึงพยายามหาวัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือดีกว่าโดยมีการนำ “ขี้เถ้าแกลบ” ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนำมาใช้ทดแทน

ดร.ผกามาศ กล่าวอีกว่า งานวิจัยนี้ได้นำขี้เถ้าแกลบมาทำให้อยู่ในรูปเม็ดขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรและนำมาเผาจะได้เม็ดบำบัดน้ำเสียที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายทางชีวภาพต่างๆ ซึ่งมีความพรุนตัวโดยที่ขนาดของรูพรุนอยู่ในระดับไมครอนจนถึงมิลลิเมตร จึงเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ ทำหน้าที่ย่อยสลายของเสียที่ปล่อยจากสัตว์น้ำ ทำให้น้ำไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยเม็ดบำบัดน้ำเสียจากขี้เถ้าแกลบนี้ จะมีพื้นที่ผิวประมาณ 11 ตารางเมตรต่อกรัม ซึ่งมากกว่าปะการังถึง 1 ใน 4 ดังนั้นหากมีการนำวัสดุดังกล่าวมาทดแทนการนำปะการังจากธรรมชาติมาใช้ ก็จะช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง และคาดว่าจะมีผู้หันมาใช้วัสดุประเภทนี้มากขึ้น

ด้าน นางรุ่งรัตน์ ประภาศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไบโอ-แมส เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นโรงงานไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักและมีขี้เถ้าแกลบจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้สนใจการนำเทคโนโลยีการผลิตไบโอฟิลเตอร์จากขี้เถ้าแกลบมาใช้ประโยชน์ โดยมอบให้บริษัทในเครือ คือ บริษัทสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เทคโนโลยี จำกัด นำไปใช้ในการผลิตและจัดจำหน่าย ด้วยเห็นว่าตัววัสดุไบโอฟิลเตอร์นี้มีกระบวนการผลิตที่ไม่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้กรดหรือสารเคมีในการผลิตด้วย จึงเหมาะสมกับนโยบายของบริษัทที่เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมีแผนที่จะนำมาผลิตเป็นเม็ดบำบัดน้ำเสียและออกจำหน่ายกลางปีหน้า ทั้งนี้ การนำผลงานวิจัยที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้าวัสดุไบโอฟิลเตอร์จากต่างประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป


ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง
นางรุ่งรัตน์ ประภาศิริกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น