xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.อุบลฯ ส่งเสริมชุมชนบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำในท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภูมิพงษ์ นวลศิริ
มรภ.อุบลฯ วิจัยใช้พืชน้ำ ที่มีในท้องถิ่น บวกกับสายลมและแสงแดดตามธรรมชาติ ช่วยบำบัดน้ำเสียในชุมชน อิงหลักธรรมชาติ ช่วยตามโครงการแหลมผักเบี้ย พบพืชหลายชนิดมีศักยภาพสูง เตรียมส่งเสริมให้ชุมชนในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด นำไปใช้จริง

นายภูมิพงษ์ นวลศิริ นักวิจัยในโครงการต้นแบบ เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีการกำจัดขยะ และการบำบัดน้ำเสียด้วยพืช ประจำศูนย์จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ข้อมูลกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ระหว่างงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551  

ทั้งนี้ ทางโครงการฯ กำลังดำเนินการเผยแพร่ความรู้ เรื่องการบำบัดน้ำเสียในชุมชนด้วยพืชน้ำในท้องถิ่น จากผลงานวิจัยของสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ให้กับชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด

"โครงการวิจัยการบำบัดน้ำเสีย ด้วยพืชน้ำในท้องถิ่น ได้นำแนวคิดมาจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่นำพืชที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทีมวิจัยได้ศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียโดยใช้พืชน้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่น 5 ชนิด ได้แก่ บอน คล้าน้ำ กกราชินี เฮลิโคเนีย และว่านน้ำ" นายภูมิพงษ์แจงรายละเอียด

นักวิจัยศึกษา โดยทดลองปลูกพืชแต่ละชนิดดังกล่าวลงดิน ในบ่อคอนกรีตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร และอนุบาลพืชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยค่อยๆ เพิ่มน้ำเสียเข้าในในบ่อ เพื่อให้พืชสามารถปรับตัวได้ในน้ำเสีย สำหรับการบำบัด ต้องใส่น้ำเสียลงไปให้มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร พักน้ำไว้ 7, 14 และ 21 วัน จากนั้นวิเคราะห์ค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ของแข็งแขวนลอย และไขมัน ที่เหลืออยู่ในน้ำเสียหลังครบกำหนดระยะเวลาทดลอง

พบว่าเพียง 7 วัน พืชแต่ละชนิดก็สามารถบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้นและสามารถปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้โดยไม่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพืชและสาหร่ายเซลล์เดียวในน้ำเสียเกิดกระบวนการสังเคราะห์แสงและช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำเสีย จุลินทรีย์ในน้ำเสียจึงย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้มากขึ้น และช่วยลดค่าบีโอดีในน้ำเสียลงได้

นายภูมิพงษ์ อธิบายอีกว่าวิธีการดังกล่าว ก็สามารถทำได้ในบ่อดินบ่อดินขนาด โดยให้มีขนาดของบ่อราว 1x7 ตารางเมตร ลึก 1 เมตร หรืออาจเล็กใหญ่ตามความเหมาะสม แต่ควรปลูกพืชน้ำในบ่อให้มีระยะห่าง 30x30 เซนติเมตร กำลังพอดี
นอกจาก พืชจะช่วยบำบัดน้ำเสียแล้ว ดินยังช่วยทำหน้าที่กรองน้ำเสียอีกทีหนึ่ง ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำด้วย และจากการวิจัยพบว่า พืชแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของชุมชนประมาณได้ประมาณ 80% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำเสียด้วย

คล้าน้ำมีประสิทธิภาพในการบำบัดไนโตรเจนสูงที่สุด ส่วน กกราชินีสามารถบำบัดฟอสฟอรัสได้ดีที่สุด และว่านน้ำสามารถบำบัดไขมันและของแข็งแขวนลอยในน้ำเสียได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยแนะนำว่า ควรตัดใบที่อยู่เหนือน้ำทิ้งทุกๆ 45 วัน เพื่อให้พืชแตกกอมากขึ้น และไม่ให้มีใบแก่ หลุดร่วงลงไปเพิ่มปริมาณของเสียในบ่อบำบัด

ทั้งนี้ทางโครงการได้กำลังศึกษาประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เตยหอม ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก และขณะนี้ได้ถ่ายทอดความรู้พร้อมฝึกอบรมให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง นำไปใช้จริงบ้างแล้วในบางจังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ จากพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 19 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะเร่งเผยแพร่ต่อไปให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งอาจทำได้ทั้งในครัวเรือน หรือรวมกลุ่มกันทำเป็นบ่อบำบัดส่วนกลางของชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น