xs
xsm
sm
md
lg

"หมอประเวศ" ชี้ ปชต.ไม่คืบเพราะ ปชช. ถูกกีดกัน แนะนักวิจัยร่วมท้องถิ่นวางยุทธศาสตร์ "ปัญญาภิวัฒน์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี
"หมอประเวศ" ชี้วัฒนธรรมถูกตีแตก ด้วยอำนาจรัฐ เงิน และการศึกษานอก ระบุวัฒนธรรมไทยล้มเหลวเพราะไม่ได้พัฒนาจากฐาน ชี้ประชาธิปไตยไทย 76 ปียังไม่ดีขึ้น เพราะประชาชนถูกกีดกัน คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของ ส.ส. เท่านั้น เร่งสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ผ่านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แนะมหาวิทยาลัยร่วมกับชุมชนวิจัย ผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง พร้อมวางยุทธศาสตร์ปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาประเทศชาติจากชุมชนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.51 ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษเรื่อง "ปัญญาภิวัฒน์" ซึ่งเป็นหัวข้อสุดท้ายของงานประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส" ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีนักวิจัยเข้าร่วมฟังการบรรยายอย่างคับคั่ง รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ความรู้และปัญญาเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน แต่หากพิจารณาแยกออกจากกัน ความรู้จะหมายถึงการรู้เป็นเรื่องๆ ส่วนปัญญาคือการรู้ถึงทั้งหมดและรู้ตัวเอง ซึ่งจะทำให้จับความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ นั่นหมายถึงการมีจริยธรรมด้วย แต่ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้เกิดจริยธรรมได้ และไม่มีพลังพอที่จะต้านอำนนกิเลสตัณหาได้ ต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วย

ในทางพุทธศาสนา ปัญญามีความหมายพิเศษยิ่งกว่านี้ โดยมีความหมายตรงกับคำว่า "วิชชา" คือปัญญาที่ลดความยึดมั่นในตัวตนได้อย่างสมบูรณ์ จนเกิดความสงบสุข เป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์และการพัฒนาที่ดี การมีปัญญาจึงเหมือนมีอิสรภาพ ส่วนความทุกข์ก็เหมือนกับการถูกบีบคั้น เพราะฉะนั้นการมีอิสรภาพก็คือการหลุดพ้นจากการถูกบีบคั้น

นพ.ประเวศ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็คือวิกฤติการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่ผ่านคลื่นมาแล้ว 3 ลูก นับตั้งแต่การทำสงครามกับพม่า, จักรวรรดินิยมตะวันตก และความขัดแข้งทางการเมือง

ทว่าวิกฤติการณ์ปัจจุบันนี้ยากที่จะแก้ไขยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพราะเราไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร อยู่ที่ไหน จึงไม่สามารถวางแผนแก้ปัญหาได้ และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เกิดการทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเรายังมองแยกออกเป็นส่วนๆ ไม่ได้มองว่าทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน

"วัฒธรรมจะอธิบายได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแทบทั้งหมดไม่รู้ว่าวัฒนธรรมคืออะไร และเข้าใจแคบมาก เพราะนำไปใช้ร่วมกันกับศิลปะ และเรียกรวมว่า ศิลปวัฒนธรรม โดยที่ส่วนใหญเน้นไปในด้านศิลปะที่เป็นวัตถุ แต่ที่จริงแล้ว วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคน ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง"

"เมื่อวิถีชีวิตแตกต่างกันตามสิ่งแวดล้อม จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเกิดจาการที่มนุษย์ในสังคมต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอด จนเกิดเป็นภูมิปัญญา หรือปัญญาที่ติดอยู่กับแผ่นดิน ซึ่งกว่าจะได้ความรู้แต่ละอย่างอาจผ่านไปหลายชั่วอายุคน ความรู้เหล่านี้จึงไม่มีอยู่ในตำรา แต่มนุษย์สั่งสมร่วมกันมานานหลายหมื่นปี" นพ.ประเวศ กล่าว

ปัจจุบันวัฒนธรรมถูกตีแตกด้วยอำนาจ 3 อย่าง คือ อำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจการศึกษาที่อยู่นอกวัฒนธรรม เพราะเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง

ทั้งนี้ นพ.ประเวศ ระบุว่า ปัญหาใหญ่ของมนุษย์คือการคิดแยกส่วน จึงไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน และต้องสร้างจากรากฐาน แต่คนไทย กลับคิดสร้างจากส่วนยอดลงมา ทำให้ระบบค่อยพังลงมา ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา

นพ.ประเวศ แนะว่า หากเริ่มจากชุมชนท้องถิ่น ก็สามารถทำให้ประชาชนหายจนได้ไม่ยาก แต่หากเริ่มจากส่วนยอดลงมา ข้างบนจะมองไม่เห็นว่าจะต้องแก้ปัญหาอะไร และยังมองอยู่บนพื้นฐานของเงินที่เป็นมายาคติ เมื่อระบบเศรษฐกิจพัง ก็พลอยทำให้ทุกอย่างพังตามไปด้วย

"ฉะนั้นหากจะให้ประเทศไทยเข้มแข็ง ต้องพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้แข็งแรง และจึงเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน เหมือนอย่างสหรัฐฯ ที่ประกอบขึ้นจากรัฐต่างๆ ที่เริ่มจากการปกครองในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ทำให้การแก้ปัญหาในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ" นพ.ประเวศ กล่าว

"ประเทศไทยพยายามพัฒนาการเมืองมา 76 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้เริ่มจากฐาน ฉะนั้นต้องทำให้เป็น "การเมืองของพลเมือง" แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่ เพราะประชาชนไทยถูกกีดกันจากการเมือง ไม่มีบทบาททางการเมือง และคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของ ส.ส. เท่านั้น ประชาชนต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองมากกว่านี้ ร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับ และต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จึงจะเกิดเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย"

นพ.ประเวศ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาประชาธิปไตยเป็นแค่กลไกเท่านั้น จึงเกิดกลโกงได้ง่าย แต่หากเกิดเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังเช่นในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เขาอยู่ได้เพราะมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ในตอนท้าย นพ.ประเวศ แนะแนวทางว่ามหาวิทยาลัย ควรศึกษาวิจัยและผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น และควรทำวิจัยร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาส่วนฐานของประเทศให้เข้มแข็ง รวมทั้งเสนอแนะ สกว. ว่าน่าจะมีการทำยุทธศาสตร์ปัญญาภิวัฒน์ หรือการพัฒนาปัญญาอย่างก้าวกระโดด ให้นักวิจัยร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์ว่าควรจะทำอะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง โดยทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น วิจัยเชิงนโยบายและบูรณาการ สิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ ก็สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยปัญญา.
นักวิจัย สกว. เข้าร่วมฟังการบรรยายเรื่อง ปัญญาภิวัฒน์ กันอย่างคับคั่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น