สนช. ระดมความก้าวหน้า ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ ทั้งจากไทยและต่างประเทศมาโชว์ในงาน "อีโคอินโนเวเชีย 2008" มีไฮไลต์เป็นรถยนต์ไฮบริด "มาสด้า 5" วัสดุตกแต่งภายในทำจากไบโอพลาสติก พร้อมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตใช้จริงแล้วอีกมากมาย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการประชุมวิชาการ และแสดงนิทรรศการด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพระดับนานาชาติ "อีโคอินโนเวเชีย 2008" (EcoInnovAsia 2008: An International Conference and Exhibition on Biofuel and Bioplastics) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 3 ต.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสื่อมวลชนหลายสาขาให้ความสนใจร่วมงานมากมาย
ดร.สุจินดา โชติพานิช กล่าวระหว่างเปิดงานว่า การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับชาวเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาติ (UNESCAP), สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA), องค์การความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน-ไทย (GTZ), เครือซิเมนไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปเปอเรชัน
"จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่ได้มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง รวมถึงการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพให้เข้มแข็ง และนำไปสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐนิเวศ รวมทั้งสร้างความตระหนักด้านการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้" ดร.สุจินดา กล่าว
ด้าน ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ขณะนี้นานาประเทศทั่วโลกกำลังวิตกกับปัญหาภาวะโลกร้อน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งก็กำลังเร่งหาทางแก้ไขอยู่ โดยที่เชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพนั้นเป็นนวัตกรรมหนึ่ที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ภายใน 3-5 ปีนี้
"งานอีโคอินโนเวเชีย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามความก้าวหน้าด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงศักยภาพของไทย ในด้านนี้ให้นานาประเทศได้เห็นว่าเรามีการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และปักธงให้ต่างชาติรู้ว่าเราเอาจริงแน่ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ร่วมเจรจาธุรกิจและมองเห็นช่องทางการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย" ดร.ศุภชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในงานนี้มีนักวิชาการและนักลงทุนจากต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จาก 15 ประเทศ อาทิ เยอรมนี, จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
ดร.ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ในการบรรยายพิเศษของ ศ.ดร.ฮอรส์ท ฮิปป์เลอร์ (Prof. Dr. Horst Hippler) อธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งคาร์ลูห์ (University of Karlsruhe) สหพันธรัฐเยอรมนี เขาบอกว่าวิกฤตของโลกในตอนนี้มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ วิกฤตพลังงาน และวิกฤตน้ำ
"ในเรื่องของพลังงาน ปัจจุบันเราให้ความสำคัญต่อพืชพลังงานกันมากขึ้น เพื่อนำมาเป็นพลังงานทดแทน ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรให้พืชอาหารและพืชพลังงานเติบโตไปด้วยกันได้ โดยที่ไม่เบียดเบียนกัน ส่วนปัญหาในเรื่องน้ำ เราต้องมีแนวทางในการจัดการน้ำที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะประชาชนในชนบท ซึ่งในเยอรมนีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก" ดร.ศุภชัย สรุปใจความสำคัญ และแจงต่อว่าหากมีระบบการจัดการน้ำ พืชอาหาร และพืชพลังงานที่ดี ก็จะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับประชาชน สร้างความมั่นคงด้านราคาของผลผลิตให้กับเกษตรกรได้
ประเทศไทยในตอนนี้ ดร.ศุภชัย บอกว่า ไทยเรามีการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ยังอยู่ในระดับต้นแบบเท่านั้น เพราะผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพยังมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 30-100% และยังต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ดี ภายใน 3-5 จะมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแล้ว
สำหรับผลงานเด่นที่นำมาจัดแสดงในงานอีโคอินโนเวเชีย 2008 นี้ ดร.ศุภชัย แจงว่าคือ รถยนต์มาสด้า 5 ไฮโดรเจน ไฮบริด (Mazda 5 Hydrogen Hybrid) ของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปเปอเรชัน ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงเท่านั้น วัสดุตกแต่งภายในรถยังผลิตจากพลาสติกชีวภาพ และเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 7 คันในโลกเท่านั้น แต่จะเริ่มผลิตจำหน่ายจริงต้นปี 2552 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลาสติกชีวภาพนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มากมายกว่าที่คิด
นอกจากนี้ ยังมีโทรศัพท์มือถือที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ โดยบริษัท เอ็นอีซี คอร์ปเปอเรชัน, การจัดแสดงการใช้งานพลาสติกชีวภาพในงานด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อดูดซับน้ำใต้ดินสำหรับเตรียมพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยบริษัท ยูนิชิกะ จำกัด ซึ่งมีการใช้จริงแล้วในประเทศญี่ปุ่น, การจัดแสดงงานวิจัยและตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีภาพรูปแบบต่างๆจากหลากหลายบริษัททั้งของไทยและต่างชาติที่มีการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว รวมทั้งสิ้น 40 บริษัท
ในส่วนของการประชุมนั้นจะมีการบรรยายเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในการผลิตและการตลาดของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ โดยวิทยากรชั้นนำทั้งจากภาคงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรม รวม 40 คน จาก 10 ประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิล เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 3-5 ต.ค.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 09.00-19.00 น.