xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลนวัตกรรมข้าวไทยปีนี้ไร้ที่หนึ่ง "ขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป" คว้าที่สอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิงห์ทอง ขนมจีนยุคใหม่ ขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป ปรุงเป็นขนมจีนเส้นสด อร่อยได้ง่ายๆ ในวิธีที่คนไทยคุ้นเคยด้วยหม้อหุงข้าว
ผลการตัดสินรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปีนี้ไม่มีผลงานใดได้ชนะเลิศ แต่นวัตกรเจ้าเก่าจากปีที่แล้ว แซงหน้าพาขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป คว้ารางวัลสูงสุดไปครอง ส่วนนักวิจัยจาก 2 มหาวิทยาลัย ควงคู่กันรับรางวัลพิเศษจากผลงานเพิ่มมูลค่าขี้เถ้าแกลบ และชุดตรวจดีเอ็นเอในข้าว

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวผลการตัดสินการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2551 (Rice Innovation Awards 2008) เมื่อวันที่ 2 ต.ค.51 ณ โรงแรมสยามซิตี โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็นประธานในการประกาศผล

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 39 ผลงาน ซึ่งเกณฑ์ในการตัดสิน คณะกรรมการจะพิจารณาจากความเป็นนวัตกรรม, การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์, ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยในปีนี้ไม่มีผลงานใดได้รัรางวัลชนะเลิศ แต่มีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 4 ผลงาน ได้แก่รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล และรางวัลพิเศษ 2 รางวัล ซึ่งมีดังนี้

รางวัลที่ 2 ได้แก่ สิงห์ดาว ขนมจีนยุคใหม่ ผลงานของ บริษัท เส้นหมี่เหรียญไทย จำกัด ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท

รางวัลที่ 3 ได้แก่ กระทงกรอบนนทรี ผลงานของ ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท

รางวัลพิเศษ ผลงานที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรม 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่

วัสดุผสมซิลิกอน-ซิลิกอนคาร์ไบด์ จากขึ้นเถ้าแกลบ โดย ผศ.ดร.สุธรรม นิยมวาส ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดีเอ็นเอชิปและระบบตรวจวิเคราะห์สมบูรณ์อย่างง่ายสำหรับตรวจดีเอ็นเอในข้าว โดย ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวิเชียร วงษ์สุรไพฑูรย์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เส้นหมี่เหรียญไทย จำกัด กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ขนมจีนยุคใหม่นี้ได้แนวคิดจากการที่ได้ไปพบเจอคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งอยากรับประทานอาหารไทย แต่ไม่มีในย่านนั้น เช่น อยากรับประทานขนมจีน ต้องใช้เส้นอูด้งแทน

"จึงคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถส่งเส้นขนมจีนไปต่างประเทศได้โดยที่ไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำหนักและอายุการเก็บรักษา และสามารถทำกินได้ไม่ยุ่งยาก ในที่สุดก็ได้เป็นขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งแปรรูปจากแป้งข้าวเจ้าสายพันธุ์ดี ผ่านกระบวนการทำให้เป็นขนมจีนแป้งสดแล้วอบแห้ง ทำให้เก็บไว้ได้นานหลายเดือนโดยไม่ผสมสารกันบูด" นายวิเชียรกล่าว

เมื่อต้องการรับประทาน เพียงแกะออกจากซอง ใส่ในหม้อหุงข้าว แล้วเติมน้ำลงไปโดยใช้ซองขนมจีนตวงให้มีปริมาณตามที่ระบุไว้บนซอง และกดสวิตซ์เหมือนการหุงข้าวตามปกติ เพียงเท่านี้ก็จะได้เส้นขนมจีนสดพร้อมรับประทาน

นอกจากนี้ยังสามารถใส่กะทิหรือแกงต่างๆ แทนน้ำเปล่า ซึ่งจะได้เป็นขนมจีนอบกะทิหรือขนมจีนอบแกงที่ภายในเส้นขนมจีนมีน้ำกะทิหรือน้ำแกงแทรกซึมอยู่ ได้ความอร่อยในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งขนมจีนกึ่งสำเร็จรูปนี้มีวางจำหน่ายแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อปีที่แล้วนายวิเชียรก็นำขนมเค้กกึ่งสำเร็จรูป "เค้กไมโครเวฟจากข้าวไทย" ได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไป ประจำปี 2550

ส่วน ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด หัวหน้าทีมผู้พัฒนากระทงกรอบนนทรี กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าในกระบวนการทำกระทงทองแบบเดิมมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องใช้วิธีการทอดเพื่อทำให้กรอบ ทำให้มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากถึง 40% จึงพัฒนาการผลิตกระทงทองแบบใหม่โดยใช้วิธีการอบ ซึ่งช่วยลดปริมาณไขมันลงได้ครึ่งหนึ่ง และใช้แป้งข้าวกล้องงอกแทนแป้งข้าวสาลีในกระทงทองแบบเดิม

หลังจากใช้เวลาพัฒนาอยู่นาน 2 ปี จึงได้กระทงกรอบนนทรีที่มีไขมันต่ำ สามารถเก็บรักษาไว้นาน ประยุกต์ใช้กับอาหารว่างได้หลากหลายรูปแบบทั้งของไทยและต่างชาติ โดยเมื่อใส่อาหารลงไปแล้วจะคงความกรอบได้นานกว่า 1 ชม. ซึ่งนานกว่ากระทงทองทั่วไป อีกทั้งยังมีสารกาบา (gamma aminobutyric acid: GABA) ที่ได้จากข้าวกล้องงอก ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ช่วยลดความดันโลหิต โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ และโรคลมชัก โดยนักวิจัยจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งต้นทุนการผลิตชิ้นละประมาณ 1.57 บาท

สำหรับรางวัลพิเศษ ซึ่งเพิ่งมีขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับข้าวโดยตรง แต่คณะกรรมเห็นว่ามีศักยภาพในความเป็นนวัตกรรมใหม่ จึงตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา

ผศ.ดร.สุธรรม อธิบายว่า ประเทศไทยมีขี้เถ้าแกลบเหลือทิ้งปีละหลายร้อยตัน ในขี้เถ้าแกลบมีซิลิกา (SiO2) อยู่มากถึง 90% เมื่อนำมาทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียมและคาร์บอน จะได้ซิลิกอนและซิลิกอนไบด์ สำหรับนำเป็นส่วนผสมในวัสดุต่างๆ สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้วัสดุนั้นมีคุณสมบัติเชิงกลดีขึ้น ต่อต้านการเกิดออกซิเดชัน ทนต่อการสึกหรอจากการเสียดสี ทนอุณหภูมิสูง และทนต่อการเปลี่ยนแปลงความร้อนฉับพลันได้ดี

อีกทั้งบางขั้นตอนในกระบวนการแยกซิลิกอนและซิลิกอนคาร์ไบด์ออกจากขี้เถ้าแกลบก็ไม่ซับซ้อน จะเกิดปฏิกิริยาคายความร้อน ทำให้มีความร้อนเพียงพอสำหรับกระบวนการทั้งหมด ซึ่งกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และไม่จำเป็นต้องใช้เตาเผาไฟฟ้าราคาแพง

ด้าน ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวว่า ปรกติการตรวจดีเอ็นเอในห้องแล็บจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน หรือมากกว่านั้น ตั้งแต่สกัดดีเอ็น เพิ่มจำนวน และนำไปตรวจวิเคราะห์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง จึงคิดค้นชุดตรวจในลักษณะชิปที่ย่นเวลาตรวจให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง

เมื่อสกัดดีเอ็นเอจากตัวอย่างแล้ว นำไปฉีดใส่แผ่นชิป ซึ่งภายในจะมีกระบวนการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอบรรจุอยู่ และดีเอ็นเอเหล่านั้นจะจับกับซิลิกา และถูกยึดไว้ในชิฟด้วยแม่เหล็กในขณะล้างทำความดีเอ็นเอ จากนั้นฉีดน้ำยาที่ติดสารเรืองแสงและมีความจำเพาะกับดีเอ็นเอที่ต้องการตรวจหาเข้าไปในชิป นำไปส่องดูด้วยแสงยูวี หากพบการเรืองแสง แสดงว่ามีตัวอย่างที่นำมาตรวจมีดีเอ็นเอดังกล่าวอยู่

ชุดตรวจดังกล่าวใช้ได้ในการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอทั่วไป และสามารถใช้ตรวจหาดีเอ็นเอแปลกปลอมในอาหารได้ เพื่อตรวจว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอหรือไม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและข้าวไทยที่ต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นข้าวพันธุ์แท้ที่ไม่ได้ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2551 จะมีขึ้นในวันนวัตกรรมแห่งชาติ วันที่ 5 ต.ค.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลาประมาณ 17.30 น.
(จากซ้าย) ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทยฯ และ ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ
นายวิเชียร วงษ์สุรไพฑูรย์
ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด (กลาง) และทีมวิจัย
ผศ.ดร.สุธรรม นิยมวาส
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น