เครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศ ประสิทธิภาพสูงฝีมือคนไทย ประยุกต์ใช้พัดลมดูดอากาศให้เป็นประโยชน์ในทางสาธารณสุข ใช้เก็บอากาศได้ทุกสถานที่ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่แพง หวังป้องกันเชื้อโรคร้ายจากคนไข้แพร่กระจายสู่หมอ-พยาบาล
ผศ.ดร.พงศ์ราม รามสูต ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้ร่วมกับบริษัท อัลไพน์ จำกัด ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศที่สามารถเก็บได้จากทุกสถานที่ และเครื่องทดสอบประสิทธิภาพแผ่นกรองอากาศ เพื่อใช้ทดแทนเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง
นักวิจัยให้ข้อมูลว่า ในอากาศมีเชื้อโรคแพร่กระจายอยู่ทั่วไป และเราอาจสูดหายใจเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางชนิดก่อโรครุนแรง หนึ่งในนั้นคือวัณโรค และในผู้ป่วยเอดส์ก็มักมีโรคนี้แทรกซ้อนด้วย และอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อนี้เข้าไปได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้เก็บตัวอย่างเชื้อโรคในอากาศหลายวิธี เช่น เครื่องเก็บตัวอย่างเชื้อโรคจากอากาศแบบผ่านน้ำ หรือแบบแผ่นกรอง
"ประเทศไทยยังต้องนำเข้าเครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศเหล่านี้ จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป และยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความไวต่ำ เก็บอากาศได้น้อย และเก็บได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้นทีมวิจัยจึงพัฒนาเครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศด้วยวัสดุที่มีในประเทศ และให้มีความไวสูงขึ้น โดยการทำให้อากาศจากบริเวณโดยรอบเข้ามาสู่เครื่องได้มากกว่า" ผศ.ดร.พงศ์ราม แจงรายละเอียด
ทั้งนี้ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศที่พัฒนาขึ้นนี้ดัดแปลงโดยนำเครื่องดูดอากาศมาติดตั้งพัดลมดูดอากาศไว้ที่บริเวณช่องสำหรับอากาศเข้า เพื่อให้สามารถเก็บอากาศได้เป็นบริเวณกว้างอย่างทั่วถึงมากกว่าเครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศที่มีอยู่เดิม อากาศที่ถูกดูดเข้ามาจะไหลผ่านไปตามท่อและเข้าสู่ขวดแก้วที่ภายในบรรจุน้ำสำหรับกักเก็บเชื้อโรค
เมื่ออากาศผ่านน้ำ เชื้อโรคต่างๆ ที่ปะปนอยู่กับอากาศจะถูกกักเก็บเอาไว้ในน้ำ ส่วนอากาศจะถูกปล่อยออกไปผ่านทางช่องอากาศออก จากนั้นจึงนำน้ำในขวดแก้วไปตรวจหาเชื้อโรคต่างๆ ในห้องแล็บต่อไป โดยเครื่องเก็บเชื้อโรคนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรีขนาด 12 โวลต์ และมีต้นทุนการผลิตไม่เกิน 3,000 บาท
ทั้งนี้ นักวิจัยยังได้ประดิษฐ์เครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศให้มีขนาดเล็กและสามารถพกพาได้สะดวก และสามารถเก็บอากาศไว้ได้ 5 ลิตร เพื่อนำไปใช้นอกสถาน อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นถ้ำต่างๆ เช่น ถ้ำค้างคาว ซึ่งอาจมีเชื้อโรคร้ายแรงปะปนอยู่ในอากาศได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พงศ์ราม ยังได้ดัดแปลงเครื่องเก็บเชื้อโรคจากอากาศให้เป็นเครื่องทดสอบประสิทธิภาพแผ่นกรองอากาศ โดยติดตั้งเครื่องพ่นเชื้อที่ไม่ก่อโรค และช่องสำหรับใส่แผ่นกรองอากาศเพิ่มเข้าไป เพื่อทดสอบว่าแผ่นกรองอากาศที่นำมาตรวจสามารถป้องกันเชื้อโรคได้จริงหรือไม่
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.พงศ์ราม เคยได้รับรางวัลชมเชย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2551 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มาแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากผลงานเรื่อง “วิธีการตรวจอย่างรวดเร็วเพื่อหาเชื้อวัณโรคและลิเจียนเนลลา จากตัวอย่างอากาศโดยวิธี Modified impinger และ Polymerase chain reaction”