นักเรียนอาชีวะฉะเชิงเทรา คิดค้นเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่หายใจเองไม่ได้ ให้นอนพักรักษาตัวอยู่บ้าน โดยที่ญาติไม่ต้องคอยเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ทดลองใช้จริงแล้ว ให้ผลพอใจทั้งแพทย์และผู้ป่วย ทังยังราคาไม่แพง
ทีมนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา ประดิษฐ์ "เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติ" สะดวกใช้งานทุกที่ ให้อากาศเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลก็ใช้ได้ โดยที่ญาติผู้ป่วยไม่ต้องคอยบีบลูกยางแอมบู (AM-BU) เพื่อให้ผู้ป่วยตลอดเวลา ทดลองใช้มาแล้ว 2 ราย ให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากทั้งแพทย์และตัวผู้ป่วยเอง
นายวัชรพงษ์ จันทา ปวช. ปี 2 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในทีมนักศึกษาที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติ เล่าว่า ญาติของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการกล้ามเนื้อปอดอ่อนแรง ไม่สามารถหายใจได้เอง จึงต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยายาบาลโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ญาติต้องการจะนำผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ทว่ามีปัญหาตรงที่ไม่สามารถนำเครื่องช่วยหายใจของทางโรงพยาบาลกลับมาใช้ด้วยได้ เนื่องจากราคาสูงมาก
อีกกรณีหนึ่งคือใช้วิธีการบีบลูกแอมบู (AM-BU) เพื่อให้อากาศแก่ผู้ป่วยโดยญาติต้องเป็นผู้บีบให้อยู่ตลอดเวลา แทนการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน จึงได้มาติดต่อกับทางวิทยาลัยเพื่อให้ช่วยประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขึ้นใช้งาน
เมื่อศึกษาหลักการทำงานของเครื่องช่วยหายใจก็พบว่าใช้หลักการเดียวกับการใช้แรงมนุษย์ในการบีบลูก AM-BU แต่เครื่องช่วยหายใจมีกลไกสำหรับบีบลูก AM-BU
"เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัตที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ประกอบไปด้วยโครงสร้างภายนอกทำจากอะลูมิเนียมสำหรับยึดติดอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนภายในประกอบด้วยกลไกต่างๆ สำหรับบีบลูก AM-BU ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรีขนาด 12 โวลต์ และมอเตอร์ที่เป็นแหล่งกำลังในการบีบ AM-BU โดยมีไมโครคอนโทรเลอร์ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของเครื่อง และมีระบบรักษาความปลอดภัยขณะใช้งาน" นายวัชรพงษ์ อธิบายให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟัง
เมื่อกดสวิตซ์ให้กลไกทำงาน ข้อเวี่ยงที่ติดอยู่กับมอเตอร์จะเริ่มทำงานคล้ายกับข้อเหวี่ยงและลูกสูบของเครื่องยนต์ เพื่อให้อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวบีบ เคลื่อนที่ไปมาเพื่อบีบลูก AM-BU เป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถปรับระดับความเร็วของจังหวะในการบีบลูก AM-BU ได้ 8 ระดับ ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย ในช่วงระหว่าง 20-30 ครั้งต่อนาที ตามคำแนะนำของแพทย์ที่ปรึกษาจากโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา และแสดงรายละเอียดบนจอแอลซีดีขนาดเล็กที่ติดตั้งอยู่กับตัวเครื่อง
นายวัชรพงษ์ บอกอีกว่า หากเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติเกิดความผิดปรกติ เครื่องจะส่งเสียงสัญญาณเตือนทันที และหากเกิดกรณีไฟฟ้าดับ แบตเตอรีภายในตัวเครื่องจะเป็นแหล่งจ่ายไฟให้เครื่องทำงานต่อไปได้อีกราว 1 ชั่วโมง และหลังจากประดิษฐ์เสร็จเรียบร้อยก็ได้นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทราเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งแพทย์และผู้ป่วยก็พอใจกับประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องเป็นอย่างดี
"ขณะนี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา 3 เครื่อง โดยนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อปอดอ่อนแรง 2 ราย เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือนแล้ว ก็ยังไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วยก็พอใจเป็นอย่างมาก และก็มีโครงการจะผลิตเพิ่มตามความต้องการของทางโรงพยาบาล" นายวัชรพงษ์ กล่าวและบอกว่าต้นทุนของเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัตินี้ประมาณ 8,000 บาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นราคาของชุดควบคุมไมโครคอนโทรเลอร์และแบตเตอรี
ส่วนลูก AM-BU ราคาไม่แพงมาก แต่เมื่อใช้งานนานเข้าลูก AM-BU จะนิ่มและอ่อนลงกว่าเดิม ทำให้ประสิทธิภาพลดลง ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนใหม่เป็นประจำทุกๆ 1 เดือน ในกรณีที่ใช้งานติดต่อกันและตลอด 24 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้งาน.