ใครที่มักพบอุปสรรคในการขนของหนัก ขึ้นลงบันไดอยู่เป็นประจำ เยาวชนเมืองย่าโม ขออาสาแก้ปัญหาให้ โดยการประดิษฐ์คิดค้น "รถเข็นของขึ้นบันไดเอนกประสงค์" ขึ้นลงได้ไม่สะดุด ช่วยผ่อนแรงผู้ใช้ได้ดี เตรียมต่อยอดเป็นรถเข็นสำหรับผู้พิการ เข็นขึ้นลงบันไดได้แม้ไม่มีทางลาดเอียง
น.ส.สุภาลัย ลาวรณ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสีคิ้ว "สวัสดิ์ผดุงวิทยา" อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ร่วมกับเพื่อนชั้นเดียวกันอีก 2 คน คือ น.ส.เจนจิรา ใจมูลมั่ง และนายกฤษตฤณ กฤติยะวงศ์ พัฒนารถเข็น 2 ล้อ ธรรมดา ให้กลายเป็นรถเข็น 3 ล้อ สามารถบรรทุกสิ่งของและเข็นขึ้นลงบันได้อย่างสะดวก เบาแรงผู้ใช้ และช่วยลดอุบัติภัยได้
น.ส.สุภาลัย กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ครอบครัวของสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่ง ประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งต้องมีการขนย้ายสินค้าจากชั้นล่างขึ้นไปยังชั้นบนเป็นประจำ โดยปรกติจะใช้รถเข็นขนสินค้ามายังบันไดทางขึ้น จากนั้นจึงยกขึ้นบันไดไปทีละกล่อง ทำให้เสียเวลา ต้องออกแรงมาก และอาจเกิดอุบัติภัยระหว่างยกของเดินขึ้นบันไดได้ง่าย
ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาให้รถเข็นสามารถไต่ขึ้นบันไดได้ โดยปรับเปลี่ยนจากรถเข็นธรรมดาที่มี 2 ล้ออยู่คนละข้าง ให้เป็นข้างละ 3 ล้อ และทำให้เพลาล้อสามารถหมุนได้ โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังขับเคลื่อนที่มีแบตเตอรีเป็นแหล่งจ่ายไฟ ควบคุมการทำงานด้วยปุ่มสวิตซ์ขึ้นและลง
"เริ่มต้นได้นำรถเข็น 2 ล้อทั่วไปมาดัดแปลง แต่โครงสร้างไม่ค่อยแข็งแรง และมีความสูงระดับเดียว จึงไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้งานที่มีความสูงต่างกัน จึงออกแบบใหม่ให้สามารถปรับระดับความสูงของรถเข็นได้โดยอยู่ระหว่าง 0.8-1.4 เมตร และโครงสร้างตัวรถทำจากสแตนเลส ซึ่งแข็งแรงและทนทานกว่า" น.สุภาลัยแจงและอธิบายต่อว่า
บริเวณมือจับ จะติดตั้งสวิตซ์ควบคุมการทำงานเอาไว้ เมื่อไม่ได้กดปุ่มก็สามารถเข็นได้บนพื้นราบทั่วไป และเลือกกดปุ่มขึ้นหรือลงเมื่อต้องการเข็นขึ้นหรือลงบันได โดยผู้ใช้จะต้องกดปุ่มค้างไว้ในขณะเข็นขึ้นหรือลง ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการที่ล้อรถหมุนลงบันไดเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ และเมื่อสุดทางบันไดแล้วจึงเลิกกดสวิตซ์
"จากการนำไปทดลองใช้งาน ผู้ใช้ก็พึงพอใจอย่างมาก และทุกวันนี้ก็ใช้งานจริงในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันออกแบบให้รถเข็นสามารถรองรับน้ำหนักได้สูงสุดประมาณ 50 กิโลกรัม แต่สามารถทำให้รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้โดยการเพิ่มกำลังของมอเตอร์ และเพิ่มขนาดของเฟืองให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็มีโรงงานหลายแห่งสนใจจะนำไปใช้จริง" น.ส.สุภาลัยอธิบาย และบอกว่าต้นทุนของรถเข็นเอนกประสงค์โครงสร้างเป็นสแตนเลสนี้คันละประมาณ 6,000-7,000 บาท แต่อาจถูกลงได้หากเป็นโลหะชนิดอื่น
นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดในรถเข็นสำหรับป่วยหรือผู้พิการ ให้สามารถเข็นขึ้นลงบันไดได้อย่างสะดวกทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน เพราะในบางสถานที่อาจไม่มีทางลาดชันสำหรับรถเข็น จึงไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้พิการ.