เนคเทคจัดประชุมประจำปี นำเสนอผลงานไฮเทคฉลองครบรอบ 22 ปี ภายใต้แนวคิดนำไทยมุ่งสู่โลกดิจิทัล ยกตัวอย่างผลงานเด่น พจนานุกรมออนไลน์ "เล็กซิตรอน" ซึ่งครบรอบ 10 ปีแล้ว "อับดุล" โปรแกรมแชตถามข้อมูลผ่านเอ็มเอสเอ็น อุปกรณ์ตัดสัญญาณระเบิดสำหรับงานราชการในชายแดนใต้ พร้อมประชุมวิชาการและบรรยายพิเศษจากวิทยากรทั่วโลก
ศูนย์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ประจำปี 2551 ภายใต้หัวข้อ "ดิจิไทย: มุ่งสู่โลกดิจิทัล" (Digitized Thailand: Towards the Digital World) ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ โรงแรมโซฟิเทล เซนทาร่า แกรนด์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.51 โดยมี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน โดยงานจัดถึงวันที่ 25 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ กล่าวภายในพิธีเปิดซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมว่า เนคเทคจัดงานประจำชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี และในโอกาสที่เนคเทคครบรอบ 22 ปีในวันที่ 26 ก.ย.นี้ จึงได้คัดผลงานที่โดดเด่นรวม 15 ผลงานมาร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มเซนเซอร์ กลุ่มซอฟต์แวร์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างเครือข่ายวิจัย
ไฮไลท์ผลงานที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการ 10 ปี พจนานุกรมออนไลน์เล็กซิตรอน (Lexitron) ซึ่งมีผู้ใช้งานผ่าน http://lexitron.nectec.or.th เฉลี่ยเดือนละ 150,000 คน โดย ดร.พันธ์ศักดิ์ระบุว่าพจนานุกรมนี้เป็นซอฟต์แวร์ประเภทโอเพนซอร์ส (Open Source) จึงมีเอกชนบางรายได้นำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์พจนานุกรมสำหรับจำหน่ายซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี
นิทรรศการซอฟต์แวร์อับดุล (ABDUL) ที่พัฒนาบนโปรแกรมเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ (MSN Messenger) สำหรับให้บริการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์สรรสาร (Sansarn.com) รายงานสภาพจราจร แปลศัพท์ และสืบค้นข่าว โดยภายในงานได้จัดเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับทดลองสนทนากับอับดุล และมีนักวิจัยผู้พัฒนาซอฟต์แวร์คอยให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัย
ตัวอย่างผลงานในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือและสัญญาณควบคุมระยะไกล เพื่อป้องกันการจุดชนวนระเบิด ซึ่งเนคเทคพัฒนาร่วมกับกระทรวงกลาโหมสำหรับใช้งานราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติงาน ระบบควบคุมการจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเนคเทคพัฒนาร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังได้ชมนิทรรศการเทคโนโลยีรหัสลับเชิงควอนตัม (Quantum Cryptography) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสลับที่มีความปลอดภัย 100% โดยอาศัยหลักควอนตัมฟิสิกส์ในทฤษฎีความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์ก (Heisenberg's Uncertainly Principle) ในการเข้ารหัส ซึ่งระบบสามารถตรวจพบการดักจับข้อมูลและเปลี่ยนรหัสได้ทันที ซึ่งเทคโนโลยีนี้เหมาะแก่การใช้งานในการทหารและธนาคาร
พร้อมกันนี้ ภายในงานยังมีการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านระบบสมองกลฝังตัวและอาร์เอฟไอดี การประชุมวิชาการ ซึ่งมีวิทยากรจากทั่วโลกมาร่วมบรรยาย อาทิ นายโซนี ซูซูกิ (Sony Suzuki) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากไอบีเอ็ม ศ.จุนอิชิ ซิจิอิ (Prof.Junichi Tsujii) จากภาควิชาวิทยาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เป็นต้น