นักวิจัยพบผู้ป่วยโรคเบาหวาน-หัวใจ มีสาร BPA ในปัสสาวะ สูงกว่าคนทั่วไป เชื่อสารอันตรายในพลาสติก มีส่วนทำให้เกิดโรคและความผิดปรกติในร่างกาย แต่ยังต้องศึกษาต่อเพื่อความแน่ชัด ทั้งยังชี้แนะให้ลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดที่มีส่วนผสมของสารอันตราย
เดวิด เมลเซอร์ (David Melzer) และคณะนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์เพนินซูลา (Peninsula Medical School) เมืองเอ็กซ์เตอร์ (Exeter) สหราชอาณาจักร ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของบิสฟีนอล เอ หรือ บีพีเอ (Bisphenol A: BPA) สารอันตรายจากพลาสติก ที่สะสมสะสมในร่างกาย กับสถานะของสุขภาพในประชากรกลุ่มตัวอย่าง พบผู้ป่วยโรคหัวใจและเบาหวานส่วนใหญ่ มีสารดังกล่าวเจือปนอยู่ในปัสสาวะมากกว่าคนทั่วไป ไซน์เดลีรายงานว่าผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารเจเอเอ็มเอ (JAMA)
ทีมนักวิจัยศึกษาว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 18-74 ปี ว่ามีสาร BPA เจือปนอยู่ในปัสสาวะที่ระดับความเข้มข้นเท่าใด และพวกเขามีสุขภาพเป็นอย่างไร โดยใช้ข้อมูลจากเนชันแนล เฮลธ์ แอนด์ นูทริชันแนล เอ็กแซมิเนชัน เซอร์เวย์ (National Health and Nutritional Examination Survey: NHANES) ในช่วงปี 2546-2547 รวมทั้งสิ้น 1,455 คน
ผลปรากฏว่า ในกลุ่มคนที่มีรายงานว่าป่วยเป็นโรคหัวใจและเบาหวาน จะมีค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของ BPA สูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีรายงานว่าป่วยด้วยโรคดังกล่าว โดยพบว่าค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานของความเข้มข้น BPA ที่เพิ่มขึ้นราว 39% ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและอาการทางด้านโรคหัวใจ
เมื่อแบ่งค่าความเข้มข้นของ BPA เป็น 4 ส่วน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 4 ที่มีความเข้มข้นของ BPA ในปัสสาวะสูงที่สุด มีระดับความเข้มข้นของ BPA ในปัสสาวะสูงกว่าประชากรอีก 1 ใน 4 ที่มี BPA ต่ำสุด ราว 3 เท่า ในกรณีของโรคหัวใจ และ 2.4 เท่า ในกรณีของโรคเบาหวาน และนอกจากนี้ยังพบว่า ค่าความเข้มข้นของ BPA สูง ยังเกี่ยวพันกับความผิดปรกติของเอนไซม์ในตับ 3 ชนิด อีกด้วย ส่วนโรคอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ยังไม่พบว่าสัมพันธ์กัน
"จากข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ เราพบว่า ความเข้มข้นของ BPA สูงในกระเพาะปัสสาวะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระจายของผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน และความผิดปรกติของเอนไซม์ในตับ ซึ่งการค้นพบนี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ถึงผลร้ายของปริมาณ BPA ในระดับต่ำที่ส่งผลต่อสัตว์" ข้อสรุปจากนักวิจัย
"การที่ BPA ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจเกี่ยวข้องกับปริมาณความเข้มข้นของ BPA ที่เพิ่มมากขึ้น และไปลดศักยภาพการทำงานของร่างกาย ซึ่งควรจะต้องมีการศึกษาต่อด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลนี้อีกทีหนึ่ง" เมลเซอร์ แจง
ทั้งนี้ BPA เป็นสารเคมีที่ใช้ทั่วไปในการผลิตภาชนะ, บรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมากที่สุดในโลก และยังพบว่ามีปนเปื้อนอยู่ในฝุ่นละอองทั่วไป เมื่อสูดหายใจเข้าไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยตรวจพบว่าประชากรในสหรัฐฯ มากกว่า 90% มีสาร BPA ปนเปื้อนในร่างกาย ซึ่งสาร BPA ในปริมาณต่ำก็ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ทว่าที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการศึกษาและเก็บข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับปริมาณของ BPA ในร่างกายและผลต่อสุขภาพในประชากรกลุ่มใหญ่
อย่างไรก็ดี เฟรเดอริค เอส วอม เซล (Frederick S. vom Saal) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) เมืองโคลัมเลีย มลรัฐมิสซูรี และจอห์น ปีเตอร์สัน ไมเออร์ส (John Peterson Myers) จากสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Health Science) มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นต่อผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวว่า
นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์จาก BPA แพร่หลายไปทั่วโลก จนถึงเดี๋ยวนี้มีปริมาณราว 7 พันล้านปอนด์ต่อปี การกำจัด BPA ให้ลดลงโดยตรงจากการที่เรานำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม น่าจะง่ายกว่าการหาทางแก้ไขในขณะที่ BPA จำนวนมหาศาลได้ปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมแล้วทั่วโลกเนื่องจากการฝังกลบหรือทิ้งลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ และก็เป็นข่าวดีที่รัฐบาลในบางประเทศเริ่มมีนโยบายต่อต้านการใช้พลาสติกที่มีส่วนผสมของ BPA แล้ว.