xs
xsm
sm
md
lg

มะกัน-แคนาดาตื่นตัว วางแผนเลิกใช้ขวดน้ำพลาสติกอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาในงานแถลงข่าวพร้อมด้วยตัวอย่างขวดนมพลาสติกที่ปราศจากสารบีพีเอ ซึ่งทางแคนาดาประกาศว่าจะยกเลิกใช้ขวดนมที่มีบีพีเอในปีหน้า
เอเยนซี - แคนาดาเริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ให้เลิกใช้ขวดนมพลาสติก ฟากสหรัฐฯ ก็เริ่มกังวลในความปลอดภัยของขวดพลาสติกที่มีสารเคมีอันตรายเจือปน จนประชากรในหลายรัฐฯ เริ่มรวมกลุ่มต่อต้านผลิตภัณฑ์อันตราย แม้แต่ห้างใหญ่อย่างวอลมาร์ทก็วางแผนเลิกจำหน่ายขวดพลาสติกที่มีส่วนผสมของสาร "บีพีเอ" ปีหน้า

เมื่อคุณดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติกที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด คุณอาจรับเอาสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว และเรื่องนี้ก็กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และอยู่ระหว่างถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่เริ่มรณรงค์ให้เลิกใช้ขวดพลาสติกกันแล้ว เพราะนักวิจัยพบว่ามันเต็มไปด้วยอันตรายที่อาจปนเปื้อนเข้าไปในอาหารและน้ำดื่มที่ถูกบรรจุอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ขวดพลาสติกใส่นมสำหรับทารก

สารเคมีอันตรายที่ว่าคือ บิสฟีนอล เอ หรือ บีพีเอ (bisphenol A: BPA) ซึ่งเป็นสารที่นำมาใช้ทำเป็นโพลีคาร์บอเนตพลาสติก (polycarbonate plastic) และเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ผลิตขวดใส่นมเด็กและขวดน้ำดื่ม รวมไปถึงอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์การแพทย์หลายชนิด อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบผลิตเรซินสังเคราะห์สำหรับเครือบกระป๋องเครื่องดื่ม

เมื่อนำขวดพลาสติกหรือกระป๋องที่มีสารบิสฟีนอล เอ ไปบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่ม สารบิสฟีนอล เอ อาจหลุดร่อน และละลายปะปนอยู่ในอาหารเหล่านั้น เมื่อบริโภคอาหารและเครื่องดื่มจากบรรจุภัณฑ์อันตรายนั้นก็จะรับเอาบิสฟีนอล เอ เข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

"ตอนนี้รัฐบาลและผู้ประกอบการทั่วโลกต่างก็ตระหนักแล้วว่าสารเคมีดังกล่าวให้ผลที่เป็นอันตรายอย่างมาก แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย" ไมเคิล เชด (Michael Schade) จากศูนย์สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรม (Center for Health, Environment and Justice) ของสหรัฐฯ เผย

จากผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กว่า 150 เรื่อง ที่ผ่านการทดสอบในหนูทดลองมาแล้ว และให้ผลว่าสารบิสฟีนอล เอ ก่อให้เกิดอันตรายกับหนูได้แม้ในระดับปริมาณของสารจะต่ำ ซึ่งเชดบอกว่าคำถามสำคัญก็คือ ร่างกายกายของเราได้รับในปริมาณเท่าไหร่? และระดับปริมาณเท่านั้นก่อให้เกิดอันตรายได้หรือไม่?

"อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่มีน้ำหนักมากพอที่จะชี้ชัดได้ว่าบิสฟีนอล เอ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์" เชดกล่าวเพิ่มเติม และด้วยเหตุนี้จึงยังมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังไม่ปักใจเชื่อว่า บิสฟีนอล เอ เป็นสารอันตรายต่อผู้บริโภค

ขณะที่สตีเวน เฮนต์เกส (Steven Hentges) จากสภาเคมีอเมริกัน (American Chemistry Council) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับผลงานวิจัยข้างต้นที่ศึกษาในสัตว์ทดลอง เขากล่าวว่าผลงานวิจัยจากแล็บไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด

"พวกเรายังคงเชื่อว่าบิสฟีนอล เอ มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น" เฮนต์เกสกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 เม.ย.51 ที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ (National Toxicology Programe) ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) ได้เผยแพร่รายงานโดยย่อในเรื่องความกังวลเกี่ยวกับอันตรายของบิสฟีนอล เอ ที่อาจส่งผลต่อระบบประสาท พัฒนาการของทารกในครรภ์ เด็กทารก และเด็กเล็กได้ และอาจเป็นสาเหตุก่อมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมในคนหนุ่มสาวได้เช่นกัน

ด้านโทนี คลีเมนต์ (Tony Clement) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา ก็เผยว่า แคนาดาก็กำลังจะออกกฏห้ามนำเข้าและจำหน่ายขวดนมพลาสติกที่ทำจากบีพีเอ เพราะกังวลว่าสารบีพีเออาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมของเด็กเล็กในวันที่จะเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า

นอกจากนี้วอลมาร์ต (Wal-Mart) ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ได้ประกาศแล้วว่ากำลังให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารบีพีเอ และจะยกเลิกการจำหน่ายขวดนมบีพีเอในปีหน้า

ด้านผู้ผลิตขวดพลาสติกรายใหญ่ในนิวยอร์กอย่างแนลจีน (Nalgene) ก็เผยออกมาแล้วเช่นกันว่าจะยกเลิกการผลิตขวดพลาสติกบีพีเอเช่นกัน และในประชากรในอีกหลายรัฐของสหรัฐฯ ก็เริ่มออกมาต่อต้านผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีสารบีพีเอกันแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่สำหรับเด็กและทารก โดยทางองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration) ก็จะเร่งตรวจสอบอันตรายของสารบีพีเอและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีสารบีพีเอต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น