ใครที่มีปัญหากลุ้มใจเรื่องความอ้วนในตอนนี้อาจต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่วัยเด็กว่ามีประสบการณ์ดูดขวดนมพลาสติกบ้างหรือไม่ เพราะงานวิจัย 3 ชิ้นจากนักวิทยาศาสตร์ฟากยุโรปชี้ตรงกันว่า หากรับสารเคมีจากพลาสติกตั้งแต่เยาว์วัยหรืออยู่ในครรภ์ก็มีแนวโน้มที่โตขึ้นมีรูปร่างตุ๊ต๊ะ แต่ทั้งนี้ยังเป็นผลที่ทดลองพบในหนูเท่านั้น
แม้ว่าการกินมากเกินไปและออกกำลังกายน้อยจะเป็นปัจจัยหลักของความอ้วน แต่ไซน์เดลี (Science Daily) ได้ชี้ให้เห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ก็คงหาสาเหตุอื่นของความอ้วน โดยสืบค้นว่าสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อโดยเลียนแบบหรือปรับเปลี่ยนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายนั้นจะทำให้คนเราอ้วนได้หรือไม่
จากการประชุมวิชาการว่าด้วยเรื่องอ้วนแห่งยุโรป (European Congress on Obesity) ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ค.51 ณ เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งสหรัฐฯ (National Institute of Environmental Health Science: NIEHS) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์สวิส (Swiss National Science Foundation) สำนักข่าวต่างๆ ทั้งเอเอฟพี รอยเตอร์ รวมทั้งไซน์เดลี ได้ร่วมกันรายงานถึงงานวิจัยที่ชี้ว่า การทดลองให้หนูตั้งท้องได้รับสารรบกวนต่อมไร้ท่อในปริมาณเปรียบเทียบได้กับที่คนเราได้รับ ส่งผลให้ลูกหนูที่เกิดมาอ้วนเมื่อโตขึ้น รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงยีนและการทำงานของกระบวนการเผาพลาญซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำหนักด้วย
"การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มที่จะอ้วนนั้นพัฒนามาตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์หรือช่วงต้นของชีวิต และได้เผยให้เห็นว่าความหลากหลายของสารเคมีที่คนในครอบครัวได้รับหรืออาจเป็นสารอาหารที่ทารกในครรภ์ได้รับมีความสำคัญต่อการเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว ข้อมูลนี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนความเห็นของผู้คนและวิธีที่จะรักษาความอ้วน หากการค้นพบนี้พิสูจน์ว่าเป็นจริงกับมนุษย์ด้วยแทนที่จะลดน้ำหนักเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนป้องกันน้ำหนักเพิ่มระหว่างเจริญเติบโตผ่านการลดรับสารเคมีที่เป็นต้นตอ" ความเห็นต่องานวิจัยของ เจอร์รี ไฮน์เดล (Jerry Heindel) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความอ้วนจากสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งสหรัฐฯ ผู้ไม่ได้ร่วมศึกษาในครั้งนี้
ไซน์เดลีรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่พบไบฟีนอล (Biphenol) หรือบีพีเอ (BPA) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate) หลุดออกจากพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดพลาสติก พลาสติกหุ้มอาหารและยางเรซิน อีกทั้งยังพบสารดังกล่าวมากในผู้คนจากประเทศกำลังพัฒนา นอกจากพบในปัสสาวะและเลือดแล้ว ยังพบได้ในถุงน้ำคร่ำ รก เลือดจากสายสะดือ น้ำนมจากทรวงอก ซึ่งการทดลองแสดงให้เห็นว่าบีพีเอสามารถเซลล์ไขมันได้
ในงานวิจัยเกี่ยวกับความอ้วนล่าสุด ศ.เบเวอร์ลี รูบิน (Beverly Rubin) นักวิทยาศาสตร์ด้านต่อมไร้ท่อจากมหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tuft University) ในสหรัฐฯ พบว่าหนูตัวเมียซึ่งเกิดจากหนูที่ได้รับสารบีพีเอระหว่างตั้งท้องจนถึงระยะให้นม 16 วันนั้นมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเมื่อโตเต็มวัย โดยไม่มีความแตกต่างของปริมาณอาหารและการออกกำลังกายระหว่างหนูที่ได้รับสารดังกล่าวกับหนูที่ไม่ได้รับ อีกทั้งยังพบการรบกวนฮอร์โมนเลปติน (leptin) ที่มีผลต่อความไวในการรับสารอินซูลินและความสมดุลของน้ำตาลกลูโคส
"การศึกษานี้ชี้นำว่าการได้รับสารเคมีเหล่านี้ก่อนและหลังเกิดนั้นมีอิทธิพลต่อการควบคุมน้ำหนัก" ศ.รูบินกล่าว
อีกงานวิจัยของ ซูซานเน เฟนตัน (Suzanne Fenton) นักชีววิทยาจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (US Environmental Protection Agengy) ได้พบว่า เมื่อให้หนูที่ตั้งท้องรับกรดเพอร์ฟลูออโรออคทาโนอิค (perfluorooctanoic acid) หรือพีเอฟโอเอ (PFOA) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ทำเครื่องหมายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ถุงป๊อปคอร์นกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าอบด้วยไมโครเวฟไปจนถึงกล่องพิซซ่าและบรรจุภัณฑ์อาหารอื่นๆ แล้วพบว่าลูกหนูที่เกิดมานั้นมีขนาดเล็กกว่าปกติแต่เมื่อโตขึ้นกลับมีน้ำหนักเกิน ในทางกลับกันแม่หนูที่ไม่ได้รับสารพีเอฟโอเอจะให้ลูกหนูที่มีการเจริญเติบโตปกติเช่นเดียวกับหนูที่ได้รับสารดังกล่าวเมื่อโตแล้ว
ทางด้านเอเอฟพียังรายงานคำอธิบายของซูวานเนเพิ่มเติมว่าปริมาณสารพีเอฟโอเอที่ได้รับชักนำให้เกิดปัญหาสุขภาพในหลากหลายรูปแบบ และสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้แม้รับสารในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่การได้รับสารในปริมาณส่งผลให้เกิดปัญหาที่รุนแรงกว่าและทำให้น้ำหนักเพิ่มอย่างผิดปกติได้
สำหรับสารพีเอฟโอเอนั้นไซน์เดลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตรวจพบได้ในคนทั่วโลก แต่สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษทางอุตสาหกรรมมีปริมาณสารดังกล่าวในเลือดมากกว่าคนปกติถึง 100 เท่า
ส่วนวิจัยที่ถือเป็นไฮไลท์ของงานอีกชิ้นคือการศึกษาของ ดร.บรูซ บลูมเบิร์ก (Dr.Bruce Blumberg) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเออร์ไวน์ (University of California at Irvine) พบว่า เมื่อนักวิทยาศาสตร์พยายามให้หนูที่ตั้งท้องได้รับสารไตรบิวทีลิน (tributylin) ในปริมาณที่เปรียบเทียบได้ว่าพบในคน ทำให้การทำงานของยีนในลูกหนูที่เกิดมาเปลี่ยนไปและทำให้อ้วนเมื่อโตขึ้น ทั้งนี้ไตรบิวทีลินเป็นสารเคมีที่ใช้ในสีทาเรือ พลาสติกหุ้มอาหารหรือใช้กับผลิตผลทางการเกษตรเพื่อฆ่าเชื้อรา
"การได้รับสารดังกล่าวในช่วงเจริญเติบโตอาจสร้างมากกว่าได้รับในช่วงโตเต็มวัยแล้ว เพราะข้อมูลจากการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กำหนดก่อนอ้วนนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหมายความว่าคุณต้องใช้ชีวิตของคุณต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก สิ่งที่ส่งผลต่อสัตว์ก็ส่งผลเดียวกับมนุษย์โดยขึ้นระดับปริมาณที่ได้รับในประชากรมนุษย์ ข้อมูลที่ได้เราได้มาชี้ว่าอย่างน้อยสารเคมีนี้ก็อยู่ในข่ายที่เราเห็นผลกระทบ แต่ยังต้องมีงานวิจัยอีกมากเพื่อประเมินขอบข่ายความเสี่ยง" ดร.บลูมเบิร์กกล่าว