ประชาชนทั่วโลกตื่นเต้นกับวินาทีประวัติศาสตร์ ที่เซิร์นทดลองยิงอนุภาคแรก สู่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสู่การไขปริศนากำเนิดจักรวาล เมื่อหลายหมื่นล้านปีก่อน เซิร์นก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน เข้ามาร่วมลุ้นเหตุการณ์สำคัญ ที่ศูนย์ควบคุม ในกรุงเจนีวา
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.51 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) หรือชื่อย่อตามภาษาฝรั่งเศส อันเป็นต้นกำเนิดเดิม นามว่า "เซิร์น" (CERN) เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ามาร่วมสังเกตการทดลองประวัติศาสตร์ ณ ศูนย์ควบคุมของเซิร์น ที่อยู่ชานกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเฝ้าชมการทดลองยิงอนุภาคแรกสู่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider : LHC) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 100 เมตร บริเวณพรมแดนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์
บรรยากาศในศูนย์ควบคุม ณ วันที่ 10 ก.ย. หรือ "แอลเอชซี เฟิร์สต์ บีม เดย์" (LHC First Beam Day) จึงดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนที่มาร่วมรอลุ้นวินาทีแห่งการรอคอย เมื่อลำอนุภาคโปรตอนลำแรกแรกถูกยิงเข้าสู่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ในเวลา 09.30 น. หรือ 14.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ทุกคนต่างก็ปรบมือดังลั่นให้กับความสำเร็จแรกที่ผ่านพ้นไปด้วยดี และหลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ภายในศูนย์ควบคุมต่างก็ช่วยกันทำงานกันอย่างขะมักเขม้น และเฝ้าติดตามผลการทดลองยิงอนุภาคแรกอย่างใจจดจ่อ
แม้จะไม่ได้ไปร่วมลุ้นกับเขาด้วย แต่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็พยายามติดตามความเคลื่อนไหวและมีภาพบรรยากาศจากเซิร์น นำสั่งผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีมาให้ชมกัน.
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพ บรรยากาศขณะลุ้น "เซิร์น"
ยิงลำแสงแรกไขกำเนิดจักรวาล
เพิ่มเติม
Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล