xs
xsm
sm
md
lg

3 องค์กรผนึกกำลังสร้างครูดาราศาสตร์ จัดอบรม ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแถลงความร่วมมือของ สสวท. สกว.และครุศาสตร์ จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย
3 องค์กรผนึกกำลัง จัดอบรมครูดาราศาสตร์ปลาย ต.ค. นี้ 3 ระดับ ประถม- ม.ต้น-ม.ปลาย โดยใช้เครือข่ายครูแกนนำ 10 จังหวัดของ สสวท. เข้าอบรมที่ครุศาสตร์ จุฬา ด้วยสื่อการสอนของ "ลีซา" ในสังกัด สกว.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย แถลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการปฏิรูปการสอนดาราศาสตร์ไทยใน "โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์โลก" ภายในงานชุมนุมวิทยาศาสตร์เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.51 ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ

ความร่วมมือดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกครู 3 ระดับ คือประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับละ 100 คน เข้าอบรมระดับ 3 วัน ระหว่างวันที่ 6-16 ต.ค.51 ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาศัยสื่อการสอนที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว.

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมในงานแถลงด้วยว่า สสวท.จะคัดเลือกครูแกนนำใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต กาญจนบุรี กรุงเทพฯ ระยอง พิษณุโลก อุบลราชธานี ราชบุรี และขอนแก่น เพื่อเข้าอบรมในครั้งนี้ ซึ่งโดยปกติ สสวท.มีจัดอบรมวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ให้กับครูแกนนำในช่วงปิดภาคเรียนอยู่แล้ว

ด้าน รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เปิดเผยว่า สกว.มีหน้าวิจัยเพื่อให้มีเครื่องมือที่ครูนำไปใช้ได้ ซึ่งความร่วมมือกับ สสวท.ในครั้งนี้จะทำให้สื่อที่ลีซา ซึ่ง สกว.สนับสนุนนั้นไปถึงครูได้มากขึ้น และการที่ครูสามารถทำชุดการสอนและสื่ออย่างง่ายได้นั้น ช่วยดึงจุดเปลี่ยนในการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าได้

ส่วน นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาสื่อเพื่อการสอนดาราศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบของหลักสูตรที่อบรมให้ครูแต่ละระดับนั้นเป็นรูปแบบเดียวกัน แต่มีความลึกซึ้งของเนื้อหาที่แตกต่างกัน โดยเนื้อหาจะเป็นเรื่องพื้นฐาน คือ เรื่องทรงกลมท้องฟ้า กลุ่มดาว ระบบสุริยะ ปรากฏการณ์ต่างที่มนุษย์พึงรู้

ทั้งนี้ เขาจะนำเสนอ 2 สื่อการสอน 2 แบบ คือ สื่อพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก เช่น นาฬิกาแดดที่ประดิษฐ์ได้เอง กิจกรรมปั้นดินน้ำมันให้เป็นดาวเพื่อการเรียนรู้ระบบสุริยะ และสื่อประเภทซอฟแวร์ โดยจะใช้ซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลอง (Stellarium) และซอฟต์แวร์ระบบสุริยะ (Solar System Simulator) ซึ่งเป็นฟรีซอฟต์แวร์ และเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งง่าย ไม่ใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์มากนัก

นอกจากนี้ นอ.ฐากูร บอกด้วยว่า เดิมเข้าใจกันว่าการศึกษาดาราศาสตร์ทำได้แค่ช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น แต่ปัจจุบันเทคโนดลยีพัฒนาไปมาก เราสามารถใช้ซอฟต์แวร์จำลองศึกษาดวงดาวในช่วงเวลากลางวัน แล้วให้นักเรียนไปศึกษาท้องฟ้าจริงตอนกลางคืนที่บ้าน และช่วงกลางวันยังมีดวงอาทิตย์ที่ช่วยสอนเรื่องท้องฟ้าได้.
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร (ซ้าย) และ รศ.สุชาตา ชินะจิตร (ขวา)
 นอ.ฐากูร เกิดแก้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น