พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ทรงเข้าร่วมกิจกรรม ในโครงการส่งเสริมศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ ในวันวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนจิตรลดา สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งจัดโดย สวทช.มุ่งเน้นกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัว ทั้งการเรียนรู้หลักการเกิดปฏิกิริยาของก๊าซ ที่ทำให้ลูกโป่งพองตัวได้ การเรียนรู้เรื่องการลอยและจม โดยพระองค์ทีฯ สนพระทัยกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากกล้วยเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างต้นกล้วยกับการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดโครงการส่งเสริมศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล ณ ศาลาผกาภิรมย์ โรงเรียนจิตรลดา เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2551 ซึ่งตรงกับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยนำกิจกรรม 4 ฐาน ให้นักเรียนได้เรียนรู้ ผ่านการเล่นและลงมือปฏิบัติจริง มีนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 จำนวน 360 คน ผลัดเปลี่ยนกันเข้าร่วมกิจกรรม และในโอกาสนี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ทรงเข้าร่วมกิจกรรมด้วยอย่างสนพระทัย
เมื่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก เดินทางไปถึงโรงเรียนจิตรลดา เป็นเวลาเดียวกับที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ทรงเริ่มทำกิจกรรม พร้อมด้วยพระสหายชั้นอนุบาลหนึ่ง ซึ่งฐานแรกที่พระองค์ทรงร่วม คือ “ฐานลูกโป่งหรรษา” พระองค์ทีฯ ทรงทดลองผสมน้ำส้มสายชู และเบกกิ้งโซดา เพื่อทำให้เกิดก๊าซ ที่ทำให้ลูกโป่งพองลมได้ด้วยพระองค์เอง
ส่วนกิจกรรมในฐานอื่นๆ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ก็ทรงทดลองเล่น และปฏิบัติด้วยพระองค์เองอย่างสนพระทัยทุกกิจกรรม ทั้งการประดิษฐ์ตุ๊กตาล้มลุก ทดสอบการลอยและจมของลูกเกดในน้ำสไปรท์ และวาดลวดลายตกแต่งโปสการ์ดด้วยก้านกล้วย โดยมีนางฤทัย จงสฤษดิ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม คอยถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง นางฤทัย บอกกับสื่อมวลชน ว่า พระองค์ท่านสนพระทัยกิจกรรมสนุกกับต้นกล้วยมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับต้นกล้วย และการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
นอกจากนี้ ในฐานกิจกรรมที่ 2 ซึ่งให้นักเรียนประดิษฐ์ตุ๊กตาล้มลุก และเรียนรู้เรื่องความสมดุล โดยบนโต๊ะกิจกรรมมีตุ๊กตาล้มลุก ที่ทำจากไข่นกกระจอกเทศวางประดับอยู่ด้วย เมื่อพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ทอดพระเนตรเห็น และได้ทรงทราบว่าเป็นไข่นกกระจอกเทศ ก็เกิดความสนพระทัยอย่างมาก พร้อมกับตรัสว่าไม่เคยเห็นไข่นกกระจอกเทศมาก่อนเลย
น.ส.ปิยะมาศ สุวรรณภักดี คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนจิตรลดา และผู้ประสานงานโครงการ เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ และจัดตรงกับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติพอดี โดยหวังว่า กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลได้ เด็กจะได้เรียนรู้ สังเกต และฝึกคิดจากการทำกิจกรรมที่ได้ทดลองเล่นและปฏิบัติจริง โดยเลือกกิจกรรมที่สนุก น่าสนใจ เหมาะสมกับวัย เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากกิจกรรม ซึ่งต้องไม่ซับซ้อนจนเกินไป ที่สำคัญต้องเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัย และไม่มีอันตราย โดยแบ่งเป็น 4 ฐาน ได้แก่
ฐาน 1 ลูกโป่งหรรษา ให้เด็กๆ เห็นว่า สามารถทำให้ลูกโป่งพองลมได้โดยไม่ต้องเป่าลมเข้าไป โดยผสมน้ำส้มสายชูและน้ำเปล่าในขวดแก้วอย่างละเท่าๆ กัน ใส่ผงเบกกิ้งโซดาลงในลูกโป่ง จากนั้นนำปากลูกโป่งไปสวมไว้บนปากขวดแก้ว ค่อยๆ เทเบกกิ้งโซดาลงในขวดแก้ว เมื่อเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำส้มสายชู จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ลูกโป่งพองลมได้โดยไม่ต้องเป่า
ฐาน 2 ลูกปิงปอง...ลูกกลมมหัศจรรย์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้หลักการสมดุลจากการประดิษฐ์ลูกปิงปองให้เป็นตุ๊กตาล้มลุก โดยการใส่ดินน้ำมันและลูกแก้วเข้าไปในลูกปิงปอง ซึ่งลูกแก้วจะถ่วงน้ำหนักให้ตุ๊กตาลูกปิงปองล้มแล้วลุกขึ้นมาตั้งใหม่ได้
ฐาน 3 สนุกกับการลอยและการจม หรือ ลูกเกดเต้นระบำ ฐานนี้คุณครูพี่เลี้ยงจะให้น้องๆ ทดลองปล่อยลูกเกดลงในน้ำสไปรท์ เปรียบเทียบกับการใส่ลูกเกดลงในน้ำอื่นๆ เช่น น้ำเปล่า น้ำมันพืช เป็นต้น เพื่อให้น้องๆ สังเกตความแตกต่าง และคิดหาเหตุผลว่าทำไมน้ำสไปรท์จึงทำให้ลูกเกดลอย จม ลอย จม สลับกันไปมาอย่างนี้ได้ ขณะที่เมื่อใส่ลูกเกดลงไปในน้ำชนิดอื่น ลูกเกดจะจมลงก้นแก้วทั้งหมด
ฐาน 4 สนุกกับต้นกล้วย ซึ่งเป็นฐานสุดท้าย ให้น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับต้นกล้วย และประโยชน์ของต้นกล้วยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทยมาตั้งแต่ในอดีต เช่น ใช้ใบตองห่อขนม ของเล่นม้าก้านกล้วย เป็นต้น และหลังจากนั้น ก็ให้น้องๆ ได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามจินตนาการของแต่ละคนโดยใช้ก้านกล้วยแทนพู่กันวาดภาพระบายสีลงบนโปสการ์ดของแต่ละคน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้พูดคุยกับน้องเต่งเต๊ง ด.ช.เขตนคร ด่านพิทักษ์ ชั้นอนุบาล 2/1 ซึ่งสนใจกิจกรรมลูกเกดเต้นระบำอย่างมาก น้องเต่งเต๊งบอกว่าลูกเกดลอยได้เพราะในน้ำสไปรท์มีฟองอากาศ แต่ในน้ำเปล่าไม่มี ลูกเกดจึงไม่ลอย และน้องเต่งเต๊งยังบอกอีกว่ากิจกรรมวันนี้สนุกมากทุกฐานเลย
ส่วน ด.ญ.พรกมล คงประเสริฐ หรือ น้องซอนย่า ชั้นอนุบาล 2/2 ที่ร่วมทำกิจกรรมแต่ละฐานอย่างสนใจไม่แพ้เพื่อนคนอื่นๆ โดยเฉพาะลูกโป่งหรรษา ซึ่งน้องซอนย่าบอกว่าลูกโป่งที่ตนเองถืออยู่นั้นไม่ได้เป่าเอง แต่ขวดเป่าให้
แม้โครงการนี้เพิ่งจัดเป็นครั้งแรก และเด็กๆ ก็ให้ความสนใจกันอย่างมาก คุณครูปิยะมาศบอกว่าในปีต่อๆ ไปก็จะจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีกเช่นกัน แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรืออาจเพิ่มกิจกรรมการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ หรือเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมด้วย
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเน้นกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อให้เด็กเล็กที่เป็นวัยช่างสังเกต ได้เล่นสนุกกับวิทยาศาสตร์ และเปิดโลกทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งมั่นใจว่าจะเป็นการสร้างความตระหนัก และปลูกฝังให้เด็กหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่สนใจ สามารถนำรูปแบบการจัดกิจกรรมดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้ โดยติดต่อศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช.โทร.0-2564-7000