Gustave Courbet เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2362 (รัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ที่เมือง Ornans ใกล้ Besancon ในฝรั่งเศส บิดาเป็นเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ในวัยเด็ก Courbet ไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะสนใจที่จะเรียนวาดภาพเท่านั้น เมื่อโตขึ้นบิดาจึงนำไปฝากเรียนศิลปะกับศิษย์ของ Jacques Louis David ที่เมือง Besancon เพื่อให้เรียนเทคนิคการ สเกตช์ภาพ และวาดภาพอย่างจริงจัง แต่ Courbet เป็นคนก้าวร้าวที่ต่อต้านสถาบันสังคม ภาพวาดของเขา จึงแสดงการมีความคิดนอกกรอบตลอดเวลา
เมื่ออายุ 21 ปี Courbet ได้เดินทางไปเรียนศิลปะที่สตูดิโอ Atelier Suisse ในปารีส ซึ่งคนที่เรียนจ่ายเงินค่าเล่าเรียนเพียงเล็กน้อย ก็ได้วาดภาพนางแบบแล้ว และสตูดิโอนี้เป็นสถานที่ให้จิตรกรฝรั่งเศสในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 มาฝึกวาดภาพ เช่น เมื่อ 20 ปีก่อนนั้น Eugene Delacroix ได้เคยมาเรียนที่นี่ และอีก 20 ปีต่อมา Paul Cezanne กับ Camille Pissaro ก็ได้มาเรียนเช่นกัน
การมีเพื่อนศิลปินหลายคนและมีบรรยากาศการเรียนที่สร้างสรรค์ ได้จุดประกายความคิด และทัศนคติ ของ Courbet ต่อการวาดภาพว่า ภาพที่ยิ่งใหญ่ควรแสดงความเป็นจริง ไม่ใช่ความเพ้อฝัน และการแสดงความชั่วร้ายของสังคม พร้อมเสนอวิธีแก้ไข ความไม่ดีงามของสังคมด้วย นี่คือการวาดภาพในสไตส์ “Realism” ที่เน้นการสะท้อนความจริง ซึ่งก็คล้ายกับแนวคิดของนักเขียน ชื่อ Proudhon ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น
เมื่ออายุ 25 ปี Courbet เริ่มนำภาพที่ตนวาดออกแสดงในงานศิลป์ที่ Paris และ Ornans และได้นำภาพออกแสดงทุกปีเป็นประจำหลังจากนั้น
ในปี 2390 หนุ่ม Courbet วัย 28 ปี ได้เดินทางไปเยือนฮอลแลนด์ และรู้สึกชื่นชมภาพของ Rembrandt มาก อีกหนึ่งปีต่อมา ได้เกิดการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส กษัตริย์ Louis Philippe ทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ เหตุการณ์สังหารประชาชนจำนวนมากได้ทำให้ Courbet รู้สึกสลดหดหู่ แต่เมื่อได้พบกับ Proud’hon ผู้มีความคิดต่างๆ ตรงกัน คนทั้งสองจึงเริ่มเล่นการเมืองแต่เล่นคนละบทบาท คือ Proud’hon ในฐานะนักเขียน และ Courbet เป็นจิตรกร ในช่วงนี้ Courbet ได้วาดภาพที่ยิ่งใหญ่ 4 ภาพ คือ ภาพ After Dinner at Ornans, ภาพ The Stone Breakers, และภาพ Burial at Ornans และภาพ The Painters Studio โดยเฉพาะภาพ The Stone Breakers นั้น เป็นที่ฮือฮามาก เพราะ Courbet วาดภาพกรรมกรสองคนที่ยากจน ใส่เสื้อผ้าที่มอซอสกปรก และภาพมีขนาดเท่าคนจริง ซึ่งจิตรกรในสมัยนั้นจะไม่วาดภาพคนชั้นต่ำกัน
ส่วนภาพ Aurial at Ornans ก็แสดง นักบวช เทศมนตรี พ่อ เพื่อนของผู้เสียชีวิตและหมู่เด็กร้องเพลงในโบสถ์ โดยทุกคนมีสีหน้าที่ไม่เศร้าโศกเลย เมื่อถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2393 ภาพ Burial ก็ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรก Courbet ได้รับรายงานว่ามีคนเข้าชมภาพในวันนั้นถึง 2,000 คน สำหรับภาพ Studio มีขนาดใหญ่คือ มีขนาด 11 ฟุต 9.75 นิ้ว x 19 ฟุต 7.5 นิ้ว ภาพได้แสดงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสตูดิโอของ Courbet โดยมี Courbet นั่งอยู่ตรงกลางเหมือนเป็น Moses ที่ถูกห้อมล้อมด้วยผู้คนเหมือนชาวยิวอพยพ
แต่เมื่อ Courbet ต้องการนำภาพ Studio ออกแสดงที่งานศิลป์ Paris World Exhibition ในปี 2398 คณะกรรมการอำนวยการได้ปฏิเสธที่จะให้ภาพนี้แสดงในงาน Courbet รู้สึกโกรธมากจึงจัดการนำภาพออกมาแสดงเองในปะรำที่สร้างตรงข้ามกับหอศิลป์ ซึ่งกำลังแสดงผลงานบางชิ้นของเขาและจิตรกรคนอื่นๆ อยู่ โดย Courbet ได้เรียกสถานที่จัดแสดงผลงานของเขาคนเดียวว่า Pavillion of Realism
หลังจากนั้น Courbet ได้เริ่มวาดภาพทิวทัศน์ เช่นภาพชายทะเลใกล้ฝั่ง Normandy และภาพเนินเขาในชนบทนอกเมือง Ornans รวมถึงภาพเหมือนจริง เช่น ภาพ Bathers and the Wrestlers กับ ภาพ Origin of the World ซึ่งภาพหลังนี้มีขนาด 46 x 55 เซนติเมตร และแสดงอวัยวะเพศของสตรีอย่างโจ่งแจ้ง จน Eugene Delacroix เมื่อเห็น ถึงกับผงะและได้ออกปากประณามว่า เป็นภาพลามกที่ไม่สมควรนำออกแสดงที่ใด แต่ความเป็นจริงก็มีว่า Courbet วาดภาพ Origin นี้ให้ลูกค้า ชื่อ Khalil -Ber ผู้เป็นทูตชาวตุรกีดูเป็นการส่วนตัว
เมื่ออายุมากขึ้น ภาพวาดของ Courbet เริ่มมีความหลากหลายขึ้น เพราะมีทั้งภาพเหมือน ภาพนิ่ง ภาพสัตว์ ภาพการล่าสัตว์ ที่ล้วนมีชีวิตชีวา และตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง
ในบั้นปลายชีวิต จิตใจของ Courbet วุ่นวายและสับสนมากเพราะในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2414 คณะรัฐบาลปฏิวัติของฝรั่งเศส ได้เข้ายึดอำนาจหลังจากที่สงคราม ฝรั่งเศส-ปรัสเซียสงบ และ Courbet ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอนุรักษ์ศิลปะแห่งชาติจึงได้อนุมัติให้ทำลายอนุสาวรีย์ Vendome Column แต่เมื่อถึงวันที่ 28 พฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น รัฐบาล Commune ล้ม รัฐบาล Versailles ได้ขึ้นปกครองแทนและได้สั่งสอบสวน Courbet ในฐานะผู้ทำลายศิลปะของชาติ Courbet ถูกจำคุก จนอีก 2 ปีต่อมา ศาลก็ได้พิพากษาให้ Courbet จ่ายเงินชดเชยถึง 3 แสนฟรังก์ เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ใหม่ แต่ Courbet ได้หลบหนีไป สวิตเซอร์แลนด์ และหาเลี้ยงชีพโดยการวาดภาพ เช่น ภาพผลไม้สุก ภาพปลา trout ที่ติดเบ็ด เสมือนจะบอกให้สังคมรู้ว่า ตนคือเหยื่อเช่นเดียวกับปลา
Courbet เสียชีวิตที่หมู่บ้าน La Tour de Peilr ใกล้เมือง Vevey เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2420 ขณะอายุ 58 ปี (ยังมีต่อ)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.