xs
xsm
sm
md
lg

Gustave Courbet (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

AfterDinner at Ornans
ในปี 2398 ที่ Paris จัดงาน World Exhibition นั้น ฝรั่งเศสต้องการจัดงานศิลป์ที่ยิ่งใหญ่กว่างาน Great Exhibition ของ London ที่จัดเมื่อ 8 ปีก่อนนั้น Courbet จึงได้เสนอผลงานเพื่อนำออกแสดงทั้งสิ้น 14 ชิ้น และได้รับการตอบรับ 11 ชิ้น ส่วนอีก 3 ชิ้น ถูกปฏิเสธ และหนึ่งในสามภาพที่ถูกห้าม คือ The Painter’s Studio ขนาด 3.59 X 5.98 เมตร ซึ่งขณะนี้ติดประดับอยู่ที่ Musee d’ Orsay ในกรุงปารีส

ในภาพเราจะเห็น ผู้คนมีอาชีพหลากหลายประมาณ 30 คน ยืนบ้างนั่งบ้าง ซึ่งมีทั้งนางแบบเปลือย นายพราน ชาวนา ตัวตลก คนยากจน กรรมกร ชาวบ้าน เด็กขอทาน ฯลฯ ซึ่งอยู่ทางซ้ายของภาพ ส่วนข้างขวาเป็นกลุ่มของนักปราชญ์ นักประพันธ์และนักกวี ซึ่งเป็นเพื่อนของ Courbet ในภาพรวม ภาพนี้จึงแสดงชีวิตจริงของสังคมที่มีทั้งสูง กลาง และต่ำ โดย Courbet ได้วาดทุกคนขนาดเท่าตัวจริง จุดโฟกัสของภาพคือนางแบบเปลือย และประเด็นที่ทำให้ทุกคนตกใจ คือ การวาดภาพ คนฐานะดี กับคนยากจนปนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน เพราะสังคมในสมัยนั้นแบ่งแยกระหว่างคนจนกับคนรวย

ในปี 2391 ที่ Courbet วาดภาพนี้ฝรั่งเศสก็มีการปฏิวัติใหญ่ ฝูงชนชาวปารีสได้บุกยึด Palais Royal เพื่อบังคับให้กษัตริย์ Louis Philippe.... ทรงสละพระราชสมบัติ และสถาปนาฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ การสู้รบทำให้มีคนเสียชีวิติประมาณ 10,000 คน ถึง Courbet จะไม่ได้ร่วมขบวนสู้รบ แต่เขาก็ยืนอยู่กับฝ่ายปฏิวัติ เพราะตนเองรู้สึกต่อต้านสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง จึงได้ออกแบบ โลโก ให้แก่หนังสือข่าวของฝ่ายปฏิวัติ

ในภาพ Studio เราจะเห็น Courbet นั่งอยู่ตรงกลางภาพและรายล้อมด้วยผู้คนมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของตนเอง โดย Courbet นั่งเอียงตัวให้เห็นด้านข้าง เพราะตนดูดีจากด้านข้าง และให้นางแบบยืนอยู่ใกล้ๆ ส่วนทางซ้ายใกล้ตำแหน่งขาตั้งภาพ มีเด็กชายขอทานอายุประมาณ 8 ขวบ ซึ่งสวมรองเท้าแตะยืนอยู่ เด็กคนนี้แต่งตัวปอนๆ ซึ่งแสดงความยากจน การให้เด็กยืนหน้าผู้หญิงเปลือยนี่ก็เป็นเรื่องที่สังคมสมัยนั้นคิดว่าไม่สมควร ชายสูงอายุที่อยู่ทางซ้ายใส่เสื้อโคตสีซีด สวมหมวกปีกกว้าง และมีกระเป๋าสะพาย และการแต่งตัวในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลหนึ่งในขบวนการปฏิวัติใหญ่ของปี 2362 Courbet คงได้เคยเห็นนักปฏิวัติตัวจริง จึงนำสไตล์การแต่งตัวมาใส่ในภาพด้วย ชายคนที่นั่งอยู่ทางซ้ายของภาพและมีสุนัขบนตัก คือ นายพรานเขาสวมหมวกสูง จึงเป็นคนชั้นกลาง การที่มีนายพรานในภาพด้วยเพราะ Courbet ชอบล่าสัตว์มาก จนได้วาดภาพการล่าสัตว์ไว้หลายภาพใกล้กับชายชราและนายพรานมีคนขายผ้ากำลังขายผ้าถูกๆ ให้แก่คนจน และเบื้องหลังคนขายผ้าจะเห็นกรรมกรยืนกอดอกไม่เคลื่อนไหวใดๆ อีกทั้งสวมหมวกแก๊ป (ซึ่งแตกต่างจากหมวกทรงสูงของเหล่าไฮโซ) เพราะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน วันละ 14 ชั่วโมงและได้ค่าตอบแทนนิดเดียว

ส่วนทางด้านขวาของภาพมีเหล่าปัญญาชน เช่นนักประพันธ์ Pierre Joseph Proud’hon ซึ่งถูกผู้หญิงบัง แต่ก็ดูออกเพราะเขามีศีรษะเด็กและใส่แว่น เขาคือผู้เขียนสโลแกนว่า “Property is theft” สำหรับ Proud’hon ไม่ชอบภาพ Studio นัก เพราะเขารู้สึกว่าภาพไม่แสดงความรุนแรงใดๆ และอยากให้ภาพแสดงการชี้นำทางศีลธรรม หรือทางการเมือง ขวาสุดมีชายที่นั่งบนโต๊ะและกำลังอ่านหนังสืออย่างดื่มด่ำ อีกทั้งไม่สนใจใคร เขาคือกวี Charles Baudelair ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งของ Courbet และเป็นคนก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Le Salut Public ที่ Courbet ออกแบบโลโกให้ แต่ในเวลาต่อมาคนทั้งสองไม่สนิทกัน เพราะ Baudelaire ชอบมองโลกในแง่ร้าย ชอบความเสื่อมสลาย และการไม่มีสมบัติใดๆ เขาเขียนกลอนชื่อ Les Fleurs du Mal (The Flowers of Evil) ที่ทุกคนรู้จักดี และเขาคือผู้ที่หลงรักหญิงนิโกร ชื่อ Jeanne Duval ที่กำลังยืนดูภาพตนเองในกระจก

เมื่อพูดถึงสตรี Courbet ไม่มีสตรีใดในชีวิต เขาต้องการชื่อเสียงและการยอมรับเหนือการมีครอบครัว ดังนั้นเมื่อภาพ Studio ถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการงาน World Exhibition Courbet รู้สึกผิดหวังมาก จึงจัดงานแสดงเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเคยทำในประวัติศาสตร์ การแสดงภาพศิลป์ของฝรั่งเศส และก็เป็นดังที่คาดคนที่เข้าชมงานแสดงภาพของ Courbet มีน้อย อาจจะเป็นเพราะอาคารตรงข้ามมีผลงานแสดงมากกว่า และจิตรกรก็ยิ่งใหญ่กว่า นอกจากนี้ภาพ 11 ภาพของ Courbet ก็อยู่ในงานใหญ่ด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เหตุที่คนไม่มากเข้าชม คือ Courbet เก็บเงินค่าผ่านประตู ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครเขาทำกัน

ภาพ Studio ของ Courbet นี้ถูกนำออกประมูลขายหลังจากที่ Courbet เสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่มีใครซื้อ จนกระทั่งปี 2463 ผู้คนจึงตระหนักได้ว่ามันเป็นภาพที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ Louvre จึงได้ซื้อไปแล้วส่งต่อไปติดตั้งที่ Musee d’ Orsay....

ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลในภาพ เพราะชนชั้นกลางต่อต้านการวาดภาพที่ไม่แบ่งวรรณะของ Courbet เขาจึงไม่วาดภาพคนจนอีก และสำหรับ Baudelair...เขาได้ถูกขังคุกเพราะเขียนหนังสือ Fleurs du Mal ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐ ส่วน Max Buchon ชายคนที่ยืนอยู่ข้างขวาของ Proud’hon ได้ถูกบังคับให้หนีออกนอกประเทศ ในเวลาต่อมา ภาพ Studio นี้จึงเป็นภาพสำคัญ เพราะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในภาพ

ขณะนี้พิพิธภัณฑ์ Musee Fabre ที่เมือง Montelpelier ในฝรั่งเศสกำลังจัดงานแสดงภาพวาดของ Courbet ภาพที่น่าตื่นเต้นคือ ภาพ The.Death of the..Stag..ขนาด 12 x16 ฟุต ซึ่งแสดงป่า ท้องฟ้า หิมะ และกวางตัวผู้ ซึ่งกำลังบาดเจ็บ เพราะถูกฝูงสุนัขล่าสัตว์กัด และฉากหลังมีนักล่าสัตว์ ซึ่งกำลังควบคุมฝูงสุนัขล่าเนื้อโดยการฟาดแส้ไปมา

นอกจากนี้ก็มีภาพ Studio และภาพ L’Origin du Monde ซึ่งทั้งหมดจะแสดงตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน ถึง 28 กันยายนปีนี้ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
Burial at Ornans
The Painterûs Studio
The Painters Studio
กำลังโหลดความคิดเห็น