xs
xsm
sm
md
lg

วท.ของบ 20 ล้านฯ วิจัยปลูกป่าป้องกันน้ำหลาก นำร่องที่เขื่อนป่าสักฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ
ประชุมสมัชชาวิทย์ระดับภูมิภาคที่ จ.สงขลา “วุฒิพงศ์” เผยของบ 20 ล้านฯ ทำวิจัยการปลูกป่าไม้โตเร็ว เสริมป่าอนุรักษ์นำร่องแสนไร่ ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ หมายจัดทำระบบชลประทานป้องกันน้ำหลาก เชื่อเดินหน้าได้ภายในปีนี้

เพื่อขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาของสังคม สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 7 “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน” ส่วนภูมิภาคครั้งที่ 1 ขึ้น ณ โรงแรมบีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อระดมข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อน

ภายหลังการเปิดงาน นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักและผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ขณะนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำแผนของบประมาณประจำปี 2552 จำนวน 20 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยการปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการจัดระบบนิเวศให้สมดุล ช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แล้ว เบื้องต้นจะนำร่องสำรวจพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อพัฒนาเป็นป่าเศรษฐกิจให้ได้ประมาณ 1 แสนไร่ เป้าหมายเพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำฝนที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นการจัดทำระบบชลประทานไปในตัว จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยไม่เกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำหลากเหมือนที่ผ่านมา

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้เข้าร่วมศึกษา โดยใช้ไม้โตเร็ว 10 ชนิด เช่น กระถินณรงค์ ประดู่ แดง และยางนา เป็นต้น ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกกฏหมายควบคุมป่าเศรษฐกิจห้ามนำไม้ชนิดอื่นมาปลูกในพื้นที่ดังกล่าว

หากมีการศึกษาแล้วเสร็จ จะมีการกำหนดพื้นที่นำร่องในการปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ร่วมกัน คาดว่าจะดำเนินการที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เป็นแห่งแรก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามากและอยู่ใกล้เมืองหลวง มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำหลาก เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นได้ภายในปีงบประมาณ 52 ที่จะถึงนี้” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 7 “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน” ระดับภูมิภาคที่ จ.สงขลาแล้ว ยังจะมีการประชุมระดับภูมิภาคอีก 2 ครั้ง คือภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ในหัวข้อ “ภาวะโลกร้อนและการใช้ประโยชน์จากป่าเศรษฐกิจ” และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น ในหัวข้อ “ภาวะโลกร้อนกับการจัดการลุ่มน้ำและพืชเศรษฐกิจ” ก่อนจะมีการประชุมสรุปความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานเสนอแนะต่อรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 17 ก.ย.51 ณ กรุงเทพฯ.
กำลังโหลดความคิดเห็น