xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมนักเขียนไซไฟเยือน "แปดริ้ว" สอนน้องผลิตหนังสือวิทย์แบบทำมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กฝึกทำหนังสือ ป๊อปอัพ ก่อนกลับไปคิดเนื้อหาและรูปเล่มของหนังสือวิทย์ทำมือ
นจวท.ระดมพลเยือน "แปดริ้ว" สอนครู-นักเรียนนับร้อยผลิต "หนังสือทำมือ" ที่มีเนื้อหาวิทยาศาสตร์ ประเดิมสอนทำ "ป๊อปอัพ" ปูพื้นฐาน ก่อนให้เวลา 2 สัปดาห์กลับไปทำเนื้อหา จัดรูปเล่มแล้วประกวดชิงรางวัล 26 ก.ค.นี้

ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ ให้กับครูและนักเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา 300 คน ณ โรงเรียนตลาดบางบ่อ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ในวันที่ 13 ก.ค.51 โดยมีกรรมการบริหารชมรม 6-7 คน เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับหนังสือทำมือ

"หนังสือทำมือคือหนังสือเก่าแก่แต่โบราณ หนังสือใบลานที่พระใช้เทศน์ก็จัดเป็นหนังสือทำมือซึ่งนำใบลานมาเจาะรูแล้วร้อยเชือก จึงจัดเป็นหนังสือทำมือชนิดแรกๆ หรือหนังสือทำอย่างง่ายๆ ที่เป็นแผ่นพับนั่นก็ใช่"นางสมพร ผลากรกุล กรรมการบริการชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างหนังสือทำมือให้เยาวชนได้เห็นภาพ

ในขณะที่นายจุมพล เหมะคีรินทร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งร่วมเป็นวิทยากร ให้ความรู้เรื่องหนังสือทำมือด้วย อธิบาย ความหมายของหนังสือประเภทนี้ว่าเป็นเอกสารที่ใช้มือทำ และทำขึ้นเองโดยไม่ผ่านโรงพิมพ์ รวมถึงเย็บเองและเข้าเล่มเองด้วย ซึ่ง "รายงาน" ก็จัดเป็นหนังสือทำมือเช่นเดียวกัน

"เนื้อหาของหนังสือทำมืออาจเป็นรายงาน บทกวี สารคดี นิทานหรืออะไรก็ได้" นายจุมพลกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่าได้ติดตามชมรายงานทีวี และได้เห็นว่าโรงเรียนในชนบทแห่งหนึ่งแก้ปัญหาเด็กไม่เข้าห้องสมุด โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มจัดทำหนังสือทำมือแล้วนำเสนอแก่เพื่อนๆ ซึ่งปรากฏว่ามีนักเรียนเข้าห้องสมุดเป็นจำนวนมากเพื่อติดตามผลงานทั้งของกลุ่มตัวเองและกลุ่มเพื่อนๆ

พร้อมกันนี้นายสาโรจน์ เกษมสุขโชติกุล บรรณาธิการนิตยสารไซน์เวิล์ด (Science World) และกรรมการบริหารชมรม นจวท. กล่าวว่าองค์ประกอบในการทำหนังสือนั้นแบ่งออกเป็นคนที่เขียนเนื้อหา คนที่วาดภาพประกอบและคนทำอาร์ตเวิร์กซึ่งมีหน้าที่นำเนื้อหาและภาพมารวมกัน เป็นการจัดรูปเล่ม

หลังจากอธิบายถึงความหมายและยกตัวอย่างหนังสือทำมือให้แก่ครูและนักเรียนได้รู้จักแล้ว วิทยากรก็ได้แจกอุปกรณ์สำหรับทำหนังสือนิทานแบบ "ป๊อปอัพ" เพื่อฝึกทักษาะก่อนลงมือทำหนังสือจริง และชี้แจงว่าการทำหนังสือทำมือแบบป๊อปอัพนั้นเป็นรูปแบบการทำหนังสือทำมือในขั้นยาก ซึ่งเมื่อทำได้แล้วก็สามารถทำหนังสือในรูปแบบอื่นได้ง่ายขึ้น

ทางด้านนายบำรุง ไตรมนตรี ประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า หลังจากให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนในการทำหนังสือทำมือแล้ว แต่ละกลุ่มซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มละ 7-8 คนนั้นจะมีเวลาในการกลับไปคิดและออกแบบเนื้อหาและรูปเล่มของหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากนั้นในวันที่ 26 ก.ค.51 กรรมการจากชมรมจะกลับไปตัดสินผู้ชนะเลิศ

"การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมจากที่เราจัดค่ายอบรมการเขียนบทความวิทยาศาสตร์ โดยสมาชิกหลายคนเห็นตรงกันว่าควรจะทำอะไรเพิ่มเติม ส่วนเหตุผลที่เลือกจัดในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นเพราะเป็นบ้านเกิดของรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเราก็อยากจัดงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง อีกเหตุผลหนึ่งคือกรรมการบริหารของเรามีญาติเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนตลาดบางบ่อ เราจึงเลือกจัดที่โรงเรียนนี้ ทั้งนี้หากโรงเรียนไหนอยากให้เราจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ก็ติดต่อเข้ามาได้" นายบำรุงเปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

สำหรับกำหนดการในวันที่ 26 ก.ค.51 ซึ่งจะมีการประกาศรางวัลหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือยอดนิยมนั้น นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล พร้อมทั้งกล่าวบรรยายพิเศษ "ทำไมประเทศไทยต้องเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์" พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมไซน์โชว์ (Science Show) และพิธีทอดผ้าป่าด้วย

ส่วน 11 โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครัง้นี้ได้แก่ โรงเรียนตลาดบางบ่อ โรงเรียนวัดวังเย็น โรงดรียนวัดแปลงยาว โรงดรียนวัดไผ่แก้ว โรงเรียนวัดสวรรค์นิมิต โรงเรียนทุ่งสะเดาประชาสรรค์ โรงเรียนวัดหนองไม้แก่น โรงเรียนบ้านคลองสอง โรงเรียนวัดวังกะจะ โรงเรียนวัดลาดบัว และโรงดรียนชุมชนวัดหัวสำโรง.
วิทยากรโชว์ตัวอย่างหนังสือ ป๊อปอัพ ที่เป็นตัวอย่างของหนังสือทำมือ
ครูและนักเรียนใน จ.ฉะเชิงเทรา ร่วม 300 คน เข้าอบรมการทำหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือ
วิทยากรจากชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ร่วมเสวนาให้ความรู้ครูและนักเรียน
นายบำรุง ไตรมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น