xs
xsm
sm
md
lg

พบฟอสซิลขากรรไกร "โฮโม อิเรกตัส" เก่าแก่สุดในโมร็อกโก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอสซิลขากรรไกรล่างของมนุษย์ โฮโม อิเรกตัส ซึ่งนักวิจัยฝรั่งเศสและโมร็อกโกร่วมกันขุดพบได้บริเวณเหมืองในเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมร็อกโก เมื่อเดือน พ.ค. 2551 ซึ่งคล้ายกับฟอสซิลขากรรไกรที่เคยพบในบริเวณเดียวกันเมื่อปี 2512 (ภาพจาก CNRS photo library)
ทีมวิจัยร่วม ฝรั่งเศส-โมร็อกโก ขุดพบฟอสซิลขากรรไกร โฮโม อิเรกตัส เก่าแก่สุดในโมร็อกโก แต่สัณฐานต่างจากฟอสซิลที่พบในแอลจีเรีย นักวิทย์เชื่อมีมนุษย์หลายเผ่าพันธุ์เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา และน่าจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ยุคแรกในยุโรปตอนใต้

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Centre National de la Recherche Scientifique: CNRS) ประเทศฝรั่งเศส และสถาบันวิทยาศาสตร์และโบราณคดี ประเทศโมร็อกโก (Institut National des Sciences de l'Archéologie et du Patrimoine du Maroc) นำโดย ฌอง-พอล เรย์นัล (Jean-Paul Raynal) จากฝรั่งเศส รายงานว่าทีมวิจัยที่ร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน ได้ขุดค้นพบฟอสซิลขากรรไกรล่างของมนุษย์ โฮโม อิเรกตัส (Homo erectus) ที่เก่าแก่ที่สุดได้ในเมืองคาซาบลังกาของโมร็อกโก เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งไซน์เดลีได้นำมารายงานเพิ่มเติม

ทีมนักวิจัยขุดพบฟอสซิลชิ้นส่วนขากรรไกรล่าง ของมนุษย์โฮโม อิเรกตัส ได้บริเวณเหมืองโทมัส 1 (Thomas I quarry) ในเมืองคาซาบลังกา ซึ่งพบอยู่ข้างใต้บริเวณที่เคยพบฟอสซิลฟันของ โฮโม อิเรคตัส มาแล้วก่อนหน้านี้ อันประกอบไปด้วยฟันกราม 3 ซี่ และฟันหน้า 1 ซี่ ที่วัดอายุได้ราว 500,000 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาในยุคสมัยของอารยธรรมอาชูเลียน (Acheulian) ที่ใช้มีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้จากหินสลัก

ฟอสซิลขากรรไกรล่างที่พบนี้ถือว่ามีความสมบูรณ์มาก และนับเป็นฟอสซิลขากรรไกรล่างที่ของมนุษย์ที่เก่าแก่มากที่สุดที่ขุดพบในประเทศโมร็อกโก ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรมนุษย์ยุคโบราณทางตอนเหนือของทวีปแอฟริก ที่อาจเกี่ยวพันกับการตั้งถิ่นฐานของประชากรในยุคแรกของยุโรปตอนใต้

ทั้งนี้ เมื่อปี 2512 เคยมีการค้นพบฟอสซิลขากรรไกรครึ่งหนึ่งของมนุษย์โฮโม อิเรกตัส มาแล้วในบริเวณเหมืองโทมัส 1 เช่นกัน แต่ครั้งนั้นเป็นการค้นพบโดยบังเอิญที่ยังปราศจากข้อมูลทางด้านโบราณคดีที่จะมาช่วยอธิบายสิ่งที่ค้นพบได้ ทว่าการค้นพบครั้งนี้ไม่เป็นปัญหาเหมือนเมื่อครั้งก่อนแล้ว อีกทั้งฟอสซิลขากรรไกรที่เพิ่งพบใหม่นี้ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับฟอสซิลขากรรไกรที่พบเมื่อ 40 ปีก่อนเป็นอย่างมาก

สำหรับบริเวณเหมืองโทมัส 1 ในคาซาบลังกา ถูกจัดให้เป็นบริเวณขุดค้นทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประชากรมนุษย์ในยุคแรกเริ่มของแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งนักวิจัยเชื่อกันว่า น่าจะมีความเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคแรกๆ ในตอนใต้ของยุโรป

ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือสำรวจและศึกษาฟอสซิลมนุษย์โบราณของ 2 สถาบันดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2531 โดยได้รับทุนสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลฝรั่งเศส, โมร็อกโก และแผนกวิจัยวิวัฒนาการมนุษย์ (Department of Human Evolution) ของสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Plank Institute) ประเทศเยอรมนี

อย่างไรก็ดี สัณฐานวิทยาของฟอสซิลมนุษย์โบราณที่พบในโมร็อกโกมีความแตกต่างจากฟอสซิลขากรรไกรอีก 3 ชิ้น ที่เคยขุดพบในประเทศแอลจีเรีย เมื่อปี 2506 ซึ่งโมร็อกโกและแอลจีเรียอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา และมีอาณาเขตติดต่อกัน จึงชี้ให้เห็นว่าบริเวณทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเคยมีมนุษย์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากโฮโม อิเรกตัส ตั้งถิ่นฐานอยู่เช่นกัน เช่น มนุษย์ โฮโม มอริตานิคัส (Homo mauritanicus) ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 700,000 ปีก่อน เป็นต้น.
2 นักวิจัยจากฝรั่งเศส (ซ้าย) และโมร็อกโก (ขวา) กำลังช่วยกันพินินพิเคราะห์ฟอสซิลชิ้นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งขุดพบได้ เป็นฟอสซิลขากรรไกรล่างของ โฮโม อิเรกตัส ที่อายุเก่าแก่ที่สุดในโมร็อกโก (ภาพจาก CNRS photo library)
กำลังโหลดความคิดเห็น