xs
xsm
sm
md
lg

จำลองเสียง "นีอันเดอร์ทัล" ให้ได้ยินอีกครั้งหลังสูญพันธุ์ 3 หมื่นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองมนุษย์นีอันเดอร์ทัลวัยเด็ก (ภาพจากสถาบันมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยซูริค เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
นิวไซเอนทิสต์-นักมานุษยวิทยาต่างปรารถนาที่จะได้ยินเสียงมนุษย์นีอันเดอร์ทัลที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30,000 ปีก่อน ว่าจะเหมือนหรือต่างจากเสียงของเราอย่างไร ล่าสุดการสังเคราะห์เสียงมนุษย์โบราณด้วยคอมพิวเตอร์ก็สำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว

โรเบิร์ต แม็คคาร์ธีย์ (Robert McCarthy) นักมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติก (Florida Atlantic University) ในโบคา ราตัน มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยระหว่างการประชุมประจำปีของสมาคมมานุษยวิทยากายภาพสหรัฐฯ ในเมืองโคลัมบัส มลรัฐโอไฮโอ เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เขาได้ฟื้นสภาพช่องเสียง (vocal tract) ของนีอันเดอร์ทัลขึ้น

ทั้งนี้เขา พบว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้สามารถออกเสียงได้แตกต่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเปล่งพลังจนสามารถสร้างเสียงสระในรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งที่การออกเสียงสระที่หลากหลายถือเป็นพื้นฐานสำคัญของภาษาพูด

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) ฟิล ลีเบอร์แมน (Phil Lieberman) นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ในเมืองโพรวิเดนซ์ มลรัฐโรดไอส์แลนด์ ลงความเห็นว่าเพราะกล่องเสียงของมนุษย์นีอันเดอร์ทัลอยู่ติดกับกะโหลก ทำให้การพูดของนีอันเดอร์ทัลจึงไม่มีความละเอียดอ่อนเท่ากับมนุษย์สมัยใหม่อย่างเราๆ

ทว่านักวิจัยหลายคนก็ส่งเสียงวิจารณ์การค้นพบของลีเบอร์แมน ทั้งการอ้างหลักฐานทางมานุษยวิทยาถึงยุคแห่งวัฒนธรรมการพูด (Oral Culture) ของนีอันเดอร์ทัล รวมถึงข้อผิดพลาดในการรื้อฟื้นช่องเสียงของนีอันเดอร์ทัลที่ทีมวิจัยของลีเบอร์แมนทำขึ้น

กระนั้นก็ตาม คำวิจารณ์ดังกล่าวหาได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของทีมแม็คคาร์ธีย์ โดยพวกเขาได้ต้นแบบการฟื้นช่องเสียงของนีอันเดอร์ทัลใหม่ 3 ชิ้น จากร่องรอยของซากฟอสซิลอายุ 50,000 ปีที่พบในฝรั่งเศส

จากแบบจำลองดังกล่าวทีมวิศวกรของแม็คคาร์ธีย์ได้คำณวนตามลักษณะท่อเสียง จนสร้างเสียงอี "E" ของนีอันเดอร์ทัลขึ้นมาในลำดับแรก ซึ่งเขาวางแผนที่จะสังเคราะห์เสียงพูดของนีอันเดอร์ทัลให้ได้สักประโยค

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ฟังเสียงอีของนีอันเดอร์ทัลโดยเปรียบเทียบกับมนุษย์ปัจจุบันแล้ว เสียงอีที่เปล่งออกมาของมนุษย์ 3 หมื่นปีนี้ ไม่สามารถเปล่งระดับพลังเสียงสระได้อย่างชัดเจน โดยออกเป็นเสียงบีบแน่นที่ลำคอและเป็นเสียงนาสิก (ขึ้นจมูก) ซึ่งเราจะไม่สามารถแยกแยะคำว่า "บีต" (beat) และ "บิต" (bit) ของนีอันเดอร์ทัลได้เลย

"ด้วยความละเอียดอ่อนนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างทางภาษา ที่ส่งผลให้นีอันเดอร์ทัลพูดได้อย่างจำกัด" เขากล่าว

ทว่าบทสรุปนี้ก็ยังไม่สอดคล้องกับสมองขนาดใหญ่ของนีอันเดอร์ทัลอยู่ดี ซึ่งอีริค ทรินเคาส์ (Erik Trinkaus) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี ชี้ว่า สมองที่ใหญ่ขนาดนี้ของนีอันเดอร์ทัลน่าจะสามารถปรับให้เกิดการใช้ภาษาได้ แต่ที่สุดแล้วสิ่งสำคัญจริงๆ ไม่น่าจะเป็นลักษณะทางกายวิภาคของช่องปาก แต่น่าจะอยู่ที่ระบบประสาทที่ใช้ควบคุมมากกว่า

นอกจากนี้ทรินเคาส์ยังชี้ว่า นีอันเดอร์ทัลน่าจะมียีนที่ส่งผลต่อความสามารถด้านภาษาด้วย โดยปีที่แล้วมีนักวิจัยค้นพบว่านีอันเดอร์ทัลก็มียีน "เอฟโอเอ็กซ์พี2" (FOXP2) ชุดเดียวกับในมนุษย์ยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีข้อบ่งชี้ว่าหากยีนชนิดนี้บกพร่อง จะทำให้เกิดความผิดปกติด้านภาษาและการพูด

อีกทั้งความแตกต่างของยีน FOXP2 ระหว่างมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในชิมแปนซีญาติใกล้ชิดที่สุดของเรา ก็ส่งผลให้มนุษย์พูดได้ แต่สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถพูดได้

ขณะเดียวกันยังมีหลักฐานทางพันธุกรรมที่ชี้ว่า ภาษาพูดทำให้วิวัฒนาการรุ่นหลังของมนุษย์เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยจอห์น ฮอว์กส์ (John Hawks) นักมานุษยวิทยาด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในเมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งร่วมอยู่ในการประชุมด้วย เสนอออกมาว่า ยีนบางตัวที่มีความสำคัญต่อการได้ยิน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในมนุษย์สมัยใหม่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยีนกลุ่มนี้ช่วยถอดรหัสภาษาพูดใหม่ๆ รวมถึงภาษาพูดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้

"บางอย่าง (การพูด) ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 40,000 ปีมานี้" ฮอว์กส์กล่าว และบอกต่อไปอีกว่า ที่เรามีวิวัฒนาการทางภาษาพูด จนเป็นอย่างทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะหูของเราถูกปรับเปลี่ยนให้ทันฟังเสียง ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานนี้
โรเบิร์ต แม็คคาร์ธีย์ (ภาพจาก www.fau.edu)




ฟังการเปล่งเสียง "อี" (E) ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ตามด้วยของมนุษย์นีอันเดอร์ทัลที่นักวิจัยได้จำลองขึ้นมาใหม่ เพื่อเปรียบเทียบ



ฟิล ลีเบอร์แมน(ภาพจาก www.cog.brown.edu)
อีริค ทรินเคาส์ (ภาพจาก media.collegepublisher.com)
จอห์น ฮอว์กส (ภาพจาก www.news.wisc.edu)
กำลังโหลดความคิดเห็น