"สโตนเฮนจ์" กองหินยักษ์อายุกว่า 5,000 ปี ที่อยู่ทางตอนใต้ของอังกฤษเป็นปริศนามายาวนานนับศตวรรษที่คนยุคหลังสงสัยว่าแท้จริงคือสถานที่อันใดกันแน่ บ้างก็ว่าเป็นหอดูดาว บ้างก็ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิในสมัยโบราณ แต่ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็คลายปมจนได้ว่าที่แท้ก็เป็นสถานที่ประกอบพิธีศพของชนเผ่ามนุษย์ยุคก่อนคริสตกาล
วารสารนิวไซเอนติสต์รายงานว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) สหราชอาณาจักร ที่นำทีมโดยไมค์ ปาร์กเกอร์ เพียร์สัน (Mike Parker Pearson) ได้พิสูจน์โครงกระดูกของมนุษย์โบราณที่ขุดค้นได้ในบริเวณที่ตั้งของ "สโตนเฮนจ์" (Stonehenge) กองหินขนาดยักษ์ในเมืองวิลท์ไชร์ทางตอนใต้ของอังกฤษ พบหลักฐานบ่งชี้ว่าอนุสาวรีย์หินดังกล่าวเป็นสถานที่ประกอบพิธีศพและเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความตายของกลุ่มชนชั้นสูงในยุคก่อนประวัติศาสตร์
นักวิจัยใช้วิธีตรวจวัดการแผ่รังสีของธาตุคาร์บอนเพื่อคำนวณอายุของโครงกระดูกและฟันที่ขุดขึ้นมาได้จากบริเวณดังกล่าวตั้งแต่เมื่อช่วงทศวรรษที่ 50 ผลการพิสูจน์บ่งชี้ว่าโครงกระดูกเหล่านั้นถูกฝังอยู่ในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ประมาณเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สโตนเฮนจ์เริ่มถูกสร้างขึ้น และคาดว่าน่าจะถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีศพสำหรับชนชั้นสูงในสมัยยุคหินยาวนานต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 500 ปี ขณะที่ก่อนหน้านี้นักโบราณคดีเคยสันนิษฐานไว้ว่าบริเวณดังกล่าวถูกใช้เป็นฌาปนสถานแค่ในระหว่าง 2,800-2,700 ปีก่อนคริสต์ศักราชเท่านั้น
"ผมไม่คิดว่าคนธรรมดาสามัญจะได้รับการประกอบพิธีศพที่บริเวณสโตนเฮนจ์นี้แน่นอน" เพียร์สันแสดงความคิดเห็นพร้อมกับแจงต่อว่านักโบราณคดีต่างสันนิษฐานกันเรื่อยมาว่าสโตนเฮนจ์อาจถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองหรือบางทีอาจเป็นราชวงศ์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และจากหลักฐานใหม่ที่ได้ก็บ่งชี้ว่าเป็นตามนั้น อีกทั้งยังถูกใช้เป็นสุสานของกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย
หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ของสหราชอาณาจักรระบุว่าสโตนเฮนจ์ส่วนแรกถูกสร้างขึ้นเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยถูกขุดให้เป็นร่องดินและกำแพงดินล้อมเป็นวงกลมที่ประกอบด้วยหลุมจำนวน 56 หลุมที่บรรจุเสาไม้ไว้ภายใน ต่อมา 2,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช หินสีน้ำเงิน (bluestone) จำนวน 82 ก้อน ซึ่งบางก้อนหนักถึง 4 ตัน ได้ถูกลำเลียงมาตั้งไว้เป็นวงกลม 2 วงภายในกำแพงดินดังกล่าว และหลังจากนั้นอีกราว 150 ปี หินซาร์เซน (sarsen stone) จำนวนหนึ่งซึ่งแต่ละก้อนหนักราว 50 ตันก็ถูกลำเลียงมาไว้ในบริเวณเดียวกันและกลายเป็นสโตนเฮนจ์ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
เดลิเมล์รายงานต่อว่าเมื่อช่วงหลายสิบปีก่อนนักโบราณคดีขุดค้นพบสุสานจำนวน 52 สุสานที่อยู่บริเวณรอบสโตนเฮนจ์ โดยโครงกระดูกจากสุสาน 3 แห่ง ถูกเคลื่อนย้ายนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ซาลิสเบอรี (Salisbury Museum) ซึ่งโครงกระดูกเหล่านี้เองที่นักวิจัยใช้เป็นตัวอย่างศึกษา โครงกระดูกที่มีอายุมากที่สุดอยู่ระหว่าง 3030-2880 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่หลุมฝังศพในโสตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้น โครงกระดูกถัดมามีอายุราว 2930-2870 ปีก่อนคริสต์ศักราช และโครงกระดูกสุดท้ายมีอายุ 2570-2340 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หินซาร์เซนถูกลำเลียงมาไว้ที่สโตนเฮนจ์
กลุ่มนักวิจัยเชื่อว่าน่าจะมีร่างที่ถูกฝังอยู่ที่บริเวณสโตนเฮนจ์มากถึง 240 ร่าง ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้วนักวิจัยทีมเดียวกันนี้เคยพบหลักฐานสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในละแวกใกล้เคียงกับสโตนเฮนจ์ด้วย ซึ่งพวกเขาสันนิษฐานว่าสถานที่ทั้ง 2 แห่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทีมีความสัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ดีนิวไซเอนติสต์รายงานว่าคริสโตเฟอร์ ชิปปินเดล (Christopher Chippindale) นักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและมานุษยวิทยา (Museum of Archaeology and Anthropology) มหาวิทยาลัยเครมบริดจ์ (University of Cambridge) แสดงความเห็นว่า แม้ว่าผลการพิสูจน์การแผ่รังสีของธาตุคาร์บอนจากโครงกระดูกที่ถูกขุดมาจากบริเวณสโตนเฮนจ์จะบ่งชี้ว่าสโตนเฮนจ์ถูกใช้เป็นสุสาน ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือจุดประสงค์แรกมนุษย์ยุคก่อนสร้างสโตนเฮนจ์ขึ้นมา
เช่นเดียวกับวัดหรือโบสถ์ที่มีหลุมฝังศพจำนวนมาก แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดประสงค์แรกที่สร้างโบสถ์นั้นขึ้นมา เขายังระบุอีกว่าความจริงเรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความน่าฉงนทั้งหมด ยังไม่ใช่คำตอนสุดท้ายที่พวกเราต้องการ