xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ง้อน้ำมันและแอลพีจีที่ "อาศรมพลังงาน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไบโอดีซลจากพืชน้ำมันนานาชาติที่ชุมชนชนบทเข้าถึงได้มากกว่าคนเมืองเพราะมีทรัพยากรเหลือเฟือ
ท่ามกลางวิกฤติพลังงาน ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นและเหลือน้อยลงทุกที ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่วิถีพึ่งพาตนเองตามแบบฉบับ "อาศรมพลังงาน" นั้นเป็นแบบอย่างให้ชุมชนชนบท หยัดยืนอยู่ได้แม้ไม่เป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน โดยการอาศัย "ชีวมวล" ทรัพยากรที่มีรายล้อมอย่างเหลือเฟือ

"ตอนนี้เรากินมรดกอยู่" คือคำพูดที่นายชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน ใช้อธิบายแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงรูปแบบการใช้พลังงานของคนเราในปัจจุบัน และยังสรุปสถานการณ์ตรงกับภาพยนตร์ดัง "แอน อินคอนวิเนียน ทรูธ" (An Inconvenient Truth) ว่า ยุคสมัยแห่งความสะดวกสบายได้ผ่านไปแล้ว และมรดกก็กำลังหมดลง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มต้นทำมาหากินด้วยการหาแหล่งพลังงานที่หมุนเวียนได้และยั่งยืนกว่า

อาศรมพลังงานคือสถานที่ต้นแบบ ในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของชุมชน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยผู้อำนวยการอาศรม ให้ข้อมูลแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า อาศรมพลังงานเน้นพลังงานในรูปแบบชีวมวลเป็นหลักและใช้เทคโนโลยีที่ทำง่ายๆ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปทำใช้เองได้ ทั้งนี้ไม่เน้นเชิงธุรกิจเพราะมองว่าหากทำเป็นธุรกิจจะทำให้เกิดกลไกที่ทำให้คนเสียนิสัย จึงเน้นการทำเอง-ใช้เอง

สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์จากชีวมวลนั้น นายชาญชัยแจกแจงกับเราว่า นำชีวมวลบางส่วนไปผลิตเป็นถ่านและบางส่วนแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งทั้งประหยัดและยังทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์พลังงานหมุนเวียนรูปอื่นๆ อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงแดด เป็นต้น โดยมีการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า 100 วัตต์เพื่อใช้สูบน้ำสำหรับรดต้นไม้ในระบบน้ำหยด และใช้พลังงานแสงแดดต้มน้ำร้อนเพื่อใช้ในอาคารบ้านพัก

ทั้งนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยสื่ออีกหลายสำนัก ได้เดินทางไปยังอาศรมพลังงานนี้เพื่อร่วมกิจกรรมภายในนิทรรศการ "ปฐมบทแห่งวิถีชุมชน พลังงานพึ่งตนก้าวพ้นวิกฤติร่วมกัน" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือน มิ.ย.51 ที่ผ่านมาตามการเชิญชวนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ขนกิจกรรมต่างๆ ไปร่วมในนิทรรศการนี้ด้วย

ภายในงานมีการนำเสนอผลงานและเทคโนโลยีระดับชุมชน เพื่อการใช้พลังงานที่อาศัยทรัพยากรในท้องถิ่นหลายอย่าง อาทิ เตาถ่านที่ออกแบบให้ประหยัดพลังงาน โดยมีช่องว่าง ระหว่างบริเวณที่ปากเตาสัมผัสภาชนะหุงต้มน้อยที่สุด เพื่อลดการสูญเสียความร้อน ซึ่งเตาถ่านแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่โดยได้รับการพัฒนาจากกรมป่าไม้ได้กว่า 20 ปีแล้วและมีเอกชนนำไปพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา

ควบคู่กับเตาถ่านก็มีถ่านที่มีประสิทธิภาพ ในการให้ความร้อนสูงกว่าถ่านธรรมดา โดยเป็นถ่านที่ได้รับการเผาจากเตาอิวาเตะ ซึ่งเป็นเตาดินเหนียวเผาที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส และมีต้นแบบจากเตาของเมืองอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในกระบวนการเผาถ่านก็ได้น้ำส้มควันไม้ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการนำไปรดน้ำต้นไม้เพื่อไล่แมลง อีกทั้งยังควบคุมกระบวนการเผาไหม้เพื่อให้ได้ถ่านได้ดีกว่าเตาเผาถ่านทั่วไป แต่มีข้อเสียมที่ตุ้นสูงหลายหมื่นบาทจึงไม่เหมาะกับการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน

ต้นทุนของเตาต้นแบบจากญี่ปุ่นอาจแพงไปจึงมีเตาแนวคิดคนไทย "เตาเผาสองร้อยลิตร" ที่มีถังความจุสองลิตรเป็นภาชนะสำคัญในการบรรจุชีวมวลแล้วนำไปเผาไหม้กลายเป็นถ่าน โดยนายสุเวช เนามวนทอง สมาชิกเครือข่ายอาศรมพลังงานจาก จ.ขอนแก่น ผู้มีอาชีพเผาถ่านระบุว่าเตาเผาถ่านชนิดนี้อาจให้ความร้อนน้อยกว่าเตาอิวาเตะแต่ก็มีข้อดีกว่าตรงที่เผาผักผลไม้ให้เป็น "ถ่านศิลป์" รูปผักผลไม้ต่างๆ ได้ ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการดูดกลิ่นอับในที่ต่างๆ ได้ เช่น ตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า เป็นต้น

"การเผาถ่านให้คงรูปผักผลไม้นั้นต้องใช้ความพยายามมากกว่าการเผาถ่านเชื้อเพลิงทั่วไป และเตาที่ให้ความร้อนมากอย่างเตาอิวาเตะไม่สามารถเผาถ่านศิลป์ได้ ในส่วนของราคาถ่านศิลป์มีราคาดีกว่าถ่านเชื้อเพลิงทั่วไป เนื่องจากขายเป็นชิ้นไม่ใช่ชั่งขายเป็นน้ำหนักเหมือนถ่านเชื้อเพลิง แต่ถ่านเชื้อเพลิงก็ขายได้ดีกว่าถ่านศิลป์เพราะมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมากกว่า" นายสุเวช ซึ่งพวงตำแหน่งครูภูมิปัญญาจากกระทรวงศึกษาธิการด้วยกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากพลังงานชีวมวลแล้วพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ก็ถูกดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ภายในอาศรม อาทิ พลังงานลมซึ่งมีตัวช่วยเป็นกังหันลมแนวตั้งที่เกิดจากแนวติดของนายนที ศรีทอง ผู้มีอาชีพผลิตคอนเทนต์บนมือถือแต่ชื่นชอบการประดิษฐ์ของใช้ต่างๆ เป็นงานอดิเรก โดยเขาอธิบายหลักการทำงานของกังหันลมให้ผู้จัดการฟังว่า มีหลักการคล้ายไดนาโมคือที่ฐานกังหันลมจะติดตั้งขดลวดที่จะหมุนตามใบพัดเมื่อมีลมและเคลื่อนที่ตัดกับแม่เหล็กที่วางประกบกัน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าซึ่งเก็บไว้ได้ในแบตเตอรี

"ขดลวด 1 ขดให้ไฟฟ้า 1 โวลต์แต่สำหรับกังหันลมนี้อย่างต่ำควรจะมีขดลวด 12 ขด ตัวอย่างของการประยุกต์ใช่กังหันลมในอาศรมพลังงานี้ก็มี เป็นกังหันรลมขนาดใหญ่ที่ต่อตรงเข้า "ปั๊มชัก" คือไม่ได้เก็บไฟไว้ในแบตเตอรีแต่ต่อเข้าปั๊มเพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้บนถังเก็บน้ำโดยตรงเลย" นายทวีอธิบาย

อาคารประหยัดพลังงานเป็นอีกตัวอย่างที่ช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนราคาค่าไฟ โดยอาศรมพลังงานได้ออกแบบห้องสมุดให้สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบข้างอาคารได้ ทั้งนี้ได้กำหนดทิศทางและตำแหน่งของอาคารให้สอดคล้องกับทิศทางโคจรของดวงอาทิตย์และลมเพื่อให้อาคารได้รับแสงแดดน้อยแต่ได้รับลมเต็มที่ ป้องกันความชื้นให้ห้องสมุดโดยยกพื้นอาคารให้สูงเพื่อให้มีอากาศระบายใต้ถุนอาคาร

นอกจากอาศัยระบบของธรรมชาติแล้วสถาปนิกยังออกแบบอาคารให้ลมผ่านได้สะดวกและมีปล่องระบายอากาศติดตั้งบนหลังคา ขณะเดียวกันเลือกใช้วัสดุที่เป็นฉนวนกันความร้อนที่ป้องกันการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่อาคาร ซึ่งจากการออกแบบลักษณะนี้ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเย็นสบายภายในตัวอาคารโดยไม่ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันก็มีสายลมเย็นๆ พัดผ่านเข้าตัวอาคารตลอดเวลาด้วย

นางสาวจุลจิฬา วงษ์พรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลซึ่งประจำอยู่ที่อาศรมพลังงานด้วยให้ข้อมูลแก่เราว่า อาศรมพลังงานมีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ภายในอาศรมจัดไว้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเองพลังงานด้านพลังงาน ซึ่งหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องถ่านจากชีวมวล ภายในอาศรมมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรวม 13 คน ซึ่งภารกิจหลักๆ ก็คือเผยแพร่ข้อมูลและความรู้พลังงาน ซึ่งปีที่แล้วมีคณะผู้สนใจติดต่อเข้ามาดูงานประมาณ 3,000 คน

อาศรมพลังงานนั้นมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มอาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยวิศวกรอาชีพบางส่วนได้ตั้งกลุ่ม "เทคโนโลยีเพื่อชาวบ้าน" ขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและเผยแพร่ให้กับชาวบ้านและชุมชน จากนั้นได้ตั้งเป็นชมรมก่อนเปลี่ยนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรภายใต้ชื่อ "สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม" (Appropriate Technology Association: ATA) และได้ก่อตั้งอาศรมพลังงานเมื่อ 5-6 ที่ผ่านมา

เมื่อได้เยือนอาศรมพลังงานและได้เห็นแนวทางในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของชุมชนชนบท ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าในส่วนของชุมชนเมืองนั้นจะพึ่งพาตนเองด้านพลังงานอย่างไรได้บ้าง ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ซึ่งนำโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียงไปร่วมจัดนิทรรศการที่อาศรมพลังงานด้วยให้ความเห็นกับเราว่า

"ชุมชนชนบทมีฐานทรัพยากรอยู่รอบตัวซึ่งหากทำให้ดีก็จะเกื้อกูลคนในชุมชนได้ แต่สำหรับชุมชนเมืองแล้วมีข้อจำกัด โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชมอาชีพซาเล้งเพราะเป็นกลไกรีไซเคิลให้กับชุมชนเมืองได้ แต่นอกจากนี้เราก็อาจพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากขยะและน้ำเสีย โดยนำมาผลิตเป็นพลังงานได้" ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.กล่าว และเผยว่ามีนโยบายส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานได้เพื่อลดการใช้พลังงานจากในระบบใหญ่

ขณะที่การใช้พลังงานจากอาศรมพลังงานจะเป็นตัวอย่างที่คนเมืองต้องชำเลืองมองคนชนบทอย่างตาร้อน แต่แนวทาง "ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน" ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่คนเล็กๆ ในชุมชนเมืองใช้เพื่อช่วยเหลือตัวเองยามวิกฤติพลังงานได้ จากข้อคิดว่า "ยุคสมัยแห่งความสะดวกสบายได้ผ่านไปแล้ว" ซึ่งเป็นไปได้ว่าการยอมลำบากมากขึ้นเพื่อใช้พลังงานน้อยลงนั้นอาจเป็นหนทางที่เราจะพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด.
เตาถ่านประหยัดพลังงานที่ออกแบบให้ช่องว่างระหว่างเตากับภาชนะหุงน้อยห่างกันน้อยที่สุดเพื่อลดการสูญเสียความร้อนโดยเปล่าประโยชน์



*สนใจเยี่ยมชมอาศรมพลังงาน ติดต่อ
อาศรมพลังงาน 135/4 ม.4 ถ.ธนะรัชต์ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130
โทรสาร.0-4429-7621 โทร.0-4429-7621
e-mail: SE@ata.or.th
เตาเผาถ่านอิตาวาเตะ ได้ต้นแบบจากญี่ปุ่นและมีใช้งานในอาศรมพลังงาน
เตาเผาถ่านสองร้อยลิตรฝีมือคนไทย ไซส์เล็กกว่าแต่ทำงานได้เหมือนเตาอิวาเตะและยังเผาถ่านศิลป์ได้อีกด้วย
เด็กๆ ต่างให้ความสนใจเตาอิวาเตะซึ่งมีตัวอย่างถ่านทั้งที่เผาด้วยเตาชนิดนี้และเตาสองร้อยวางเรียงรายอยู่เบื้องหน้า
กังหันแนวตั้งที่ใช้ประโยชน์จากลมผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องง้อลมแรง โดยภายในอาศรมพลังงานนำแนวคิดของนายนที ศรีทองมาขยายขนาดเพื่อใช้สูบน้ำจากบ่อ
 แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ปั๊มน้ำสู่ระบบน้ำหยดภายในอาศรมพลังงาน
แผงรับพลังงานแสงแดดไปต้มน้ำร้อน
อาคารประหยัดพลังงานซึ่งออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบๆ ทั้งทิศทางลม แดด และปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา อีกทั้งบนหลังคายังติดตั้งอุปกรณ์ระบายอากาศด้วย
นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น