xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ธัญบุรีเดินหน้าวิจัยพลังงานสะอาด ผุดอาคารประยุกต์"ลม-น้ำ-แสงอาทิตย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่หลายมหาวิทยาลัยต่างดึงจุดเด่นของตนเองออกมาแข่งขันอวดศักยภาพแก่โลก อาคารเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็กำลังเดินหน้าวิจัยเทคโนโลยีสะอาดอย่างขะมักเขม้นไม่แพ้กัน นั่นก็คืออาคารวิจัยประยุกต์ พลังงานลม น้ำ และแสงอาทิตย์ ของ ดร.วิชัย โรยนรินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพลังงานทดแทนนั่นเอง

สำหรับอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นบนพื้นที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กของ มทร.ธัญบุรี ด้วยรูปทรงแปลกตา มีลักษณะเป็นหลังคาทรงลาดเท ครึ่งวงกลมสองวงเทเข้าหากัน ซึ่งรูปแบบของหลังคาดังกล่าวเป็นเทคนิคในการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานแบบหนึ่ง เมื่อใดที่มีฝนตก น้ำจะไหลมารวมกันที่จุดศูนย์กลาง ทำให้น้ำมีกำลังแรงพอต่อการปั่นไฟเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้

ขณะที่ด้านบนของหลังคา ในอนาคตจะมีการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ สำหรับรับพลังงานแสงอาทิตย์มาเก็บสำรองไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในเวลากลางคืน โดยการออกแบบหลังคาในลักษณะดังกล่าวช่วยให้รับแสงอาทิตย์ได้ดี

ขณะที่ไกลออกไปประมาณ 10 เมตร เราก็ได้พบกับกังหันลมตัวมหึมา ยืนท้าแดดท้าฝนอยู่ ซึ่งกังหันลมดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการปั่นไฟเก็บเข้าแบตเตอรี่ด้วยเช่นกัน

ภาพรวมของอาคารวิจัยประยุกต์สองชั้นของ มทร.ธัญบุรีจึงเป็นอีกหนึ่งอาคารต้นแบบที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ ทั้ง น้ำ ลม แสงแดด มาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงตัวอาคารได้ ภายใต้งบประมาณในการก่อสร้างราว 2 ล้านบาทเท่านั้น

ดร.วิชัย โรยนรินทร์ ผู้ออกแบบอาคารดังกล่าวเปิดเผยว่า "อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัยฟาร์มกังหันลมที่ติดตั้ง ณ เกาะล้าน เมืองพัทยา ซึ่งในขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่าผมเป็นนักวิจัยชาวไทยเพียงคนเดียวที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกังหันลม ขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ดังนั้น เมื่อทางเกาะล้านพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการติดตั้งกังหันลมจำนวน 45 ตัวเพื่อใช้ปั่นไฟจ่ายให้กับชาวบ้านบนเกาะ ทางมทร.ธัญบุรีจึงได้รับโครงการนี้มาทำ และถือเป็นโครงการวิจัยไปด้วย ซึ่งผมได้สร้างทีมงาน และต้นแบบกังหันลมที่จะนำไปติดที่เกาะ โดยใช้อาคารแห่งนี้เป็นสถานที่ในการทดสอบ และหลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาคารแห่งนี้ก็จะใช้เพื่อการวิจัยพลังงานสะอาดต่อไป"

นอกเหนือจากความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากลม น้ำ และแสงอาทิตย์แล้ว รูปแบบของอาคารยังทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ตั้งของตัวอาคารจะเป็นแนวเฉียง ระหว่างทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรับแสงแดดโดยตรง ขณะที่ผนังอาคารที่อยู่ในด้านตะวันตกและตะวันออกจะมีความหนามากกว่าผนังอาคารในด้านทิศเหนือและทิศใต้ เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร และหากมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ในทิศตะวันออก - ตก ก็จะสามารถบังแสงอาทิตย์ให้กับอาคารได้ ฯลฯ

นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็มีแผนจะพัฒนาอาคารดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางในการออกประกาศนียบัตรรับรองให้กับผู้ผลิตกังหันลมที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วย โดย ดร.วิชัย กล่าวว่า "หลังจากที่เราได้ออกแบบและพัฒนากังหันลมขึ้นใช้ในเมืองไทย ก็มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งให้ความสนใจและต้องการนำกังหันลมเข้ามาทำตลาดบ้าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กังหันลมของบางบริษัทไม่เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถปั่นไฟได้ตามความต้องการ ทาง มทร.ธัญบุรีจึงมีแผนจะสร้างศูนย์สำหรับทดสอบชุดกังหันลมเพื่อการใช้งานในประเทศไทย รวมถึงการให้ประกาศนียบัตรรับรอง เพื่อให้เป็นมาตรฐานด้วย หรือในกรณีที่บริษัทต่างชาติต้องการให้ช่วยปรับปรุงใบพัดให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น