xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น ก.ย นี้อาจไม่เหลือน้ำแข็งขั้วโลกเหนือเป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกในแถบนอร์เวย์เมื่อปี 2550 ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ก.ย. น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายหมด (ภาพเอเอฟพี)
เมื่อสิ้นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ อาจไม่เหลือแผ่นน้ำแข็งบนขั้วโลกอีกต่อไป อันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ขั้วโลกจะไร้น้ำแข็ง

"เราอาจไม่เหลือน้ำแข็งบนขั้วโลกเหนือเ มื่อสิ้นสุดฤดูร้อนนี้ (ประมาณปลาย ก.ย.) และเหตุผลก็เป็นเพราะ บริเวณขั้วโลกเหนือในขณะนี้ ปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งที่บางมากๆ และน้ำแข็งที่เราเรียกว่าเป็น "น้ำแข็งแรกของปี" ก็มีแนวโน้มว่าจะละลายหมดไปในฤดูร้อนนี้" เอเอฟพี รายงานคำให้สัมภาษณ์ของมาร์ก เซอร์เรซ (Mark Serreze) นักวิจัยอาวุโสของศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งสหรัฐอเมริกา  (National Snow and Ice Data Center) ในเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโรราโด สหรัฐฯ

ขณะที่เอพีรายงานด้วยว่า เพราะความบางของแผ่นน้ำแข็ง จะทำให้ละลายหมดไปในฤดูร้อน ทั้งนี้จะมีการประเมินเงื่อนไขทางสภาพอากาศ และมหาสมุทรในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ว่าจะทำให้น้ำแข็งในทะเลละลายไปเท่าใด

เบื้องต้นเซอร์เรซระบุว่า สัญญาณที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก โอกาสที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกจะละลายหมดไปเลยนั้น มีสูงมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่นั้นบางกว่าในอดีตที่เคยเป็น

เจย์ ซวอลลี (Jay Zwally) นักวิทยาศาสตร์น้ำแข็งแห่งองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาเมื่อต้น ก.พ.และ มี.ค.นี้แสดงให้เห็นว่า วัฏจักรรอบๆ ขั้วโลกเหนือ "บางอย่างเห็นได้ชัด" กว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยเห็นมาในช่วง 5 ปีนี้ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นไปได้ 50-50 ที่ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งเลย

เช่นเดียวกับเซอร์เรซ ที่ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่ามีโอกาส 50% ที่จะไม่เหลือน้ำแข็งอยู่เลย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงในเดือน ก.ย. เรือเดินสมุทรอาจล่องจากอะลาสกา ไปยังขั้วโลกเหนือได้โดยตรง และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้หนึ่งว่าสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะภาวะโลกร้อน
 
อย่างไรก็ดี แม้ไม่เหลือน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ก็ยังเหลือน้ำแข็งบริเวณอื่นๆ ของมหาสมุทรอาร์กติก และเซอร์เรซได้ชี้ว่า น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือนั้นเป็นสัญลักษณ์ทางใจของคนทั่วไป ที่เชื่อว่าขั้วโลกเหนือคือบ้านของซานตาครอส

เซอร์เรซย้อนว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การคาดการณ์เช่นนี้ไม่น่าเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงปี 2593-2643 และโดยส่วนตัวแล้วเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่คิดว่าสถานการณ์ที่น้ำแข็งจะละลายหมดไปนั้น กำลังใกล้เข้ามาในเร็วๆ นี้ และเมื่อหน้าร้อนปีก่อน ภาพถ่ายดาวเทียม เผยให้เห็นว่าน้ำแข็งในทะเล ลดลงเหลือน้อยที่สุดที่เคยบันทึกมาและเป็นไปได้ว่าอาจเหลือน้อยที่สุดในรอบศตวรรษก็ได้ โดยน้ำแข็งหดตัวลง 23% จากปี 2548

ทั้งนี้ น้ำแข็งอาร์กติกจะเริ่มละลายช่วงกลางเดือน มิ.ย.และเข้าสู่ช่วงบางที่สุดประมาณกลางเดือน ก.ย. ก่อนที่น้ำแข็งจะเริ่มก่อตัวอีกครั้ง และถึงจุดหนาที่สุดช่วงกลางเดือน มี.ค.

ทางด้านเซอร์เรซระบุว่าถ้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอัตราเร่งของภาวะโลกร้อนก็จะช่วยชะลอการละลายของน้ำแข็งได้ แต่หากกลับแนวโน้มให้น้ำแข็งหนาตัวขึ้นจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน.
แผนที่แสดงปริมาณน้ำแข็งที่ขั้วโลก โดยในเส้นทึบสีแดงแสดงปริมาณน้ำแข็งฉลี่ยช่วง ก.ย ปี 2522-2543 ส่วนแถบปรุสีแดงคือปริมาณเฉลี่ยในเดือนเดียวกันของปี 2548 และสองปีต่อมาก็เหลือพื้นที่น้ำแข็งในบริเวณสีดาวดังที่เห็นในภาพ (ภาพเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น