xs
xsm
sm
md
lg

หลังพบน้ำแข็งคำถามต่อไปบนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจุลินทรีย์ที่ถูกแช่แข็งในน้ำแข็งกรีนแลนด์และได้รับการเพาะเลี้ยงให้มีชีวิตขึ้นใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์เสตท สิ่งมีชีวิตที่ทนได้ในสภาพอันทารุณเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตคล้ายๆ กันใต้แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วเหนือดาวอังคาร (มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท/เอพี)
จากข้อเท็จจริงที่ว่าในสภาพแวดล้อมอันทารุณบนโลก เราได้พบจุลินทรีย์แปลกๆ ที่สามารถเจริญโตได้ตั้งแต่ในทะเลทรายอันแห้งผาก ไปจนถึงบ่อน้ำร้อนและบริเวณที่แสงแดดส่องไม่ถึงใต้มหาสมุทรแห่งแปซิฟิก แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตแปลกๆ ที่อาศัยในพื้นที่หนาวเหน็บบนดาวอังคาร?

"ต้องเป็นน้ำแข็งแน่ๆ" คำพูดของ ดร.ปีเตอร์ สมิธ (Dr.Peter Smith) จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาในทูซอน (University of Arizona, Tucson) ที่แสดงความเชื่อมั่นถึงสิ่งที่ยานฟินิกซ์ (Phoenix) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ค้นพบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดร.สมิธทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบหลักในการทำงานของยาน ทั้งนี้วัตถุสีขาวที่ยานขุดขึ้นมาและถูกสงสัยว่าเป็นน้ำแข็งหรือเกลือนั้นได้หายไปภายในเวลา 4 ซอล (sol) หรือ 4 วันของดาวอังคาร ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่าเป็นเหตุให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นการระเหยของน้ำ

"ก้อนดินเล็กๆ นี้หายไปเลยในไม่กี่วันซึ่งเป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมว่านั่นคือน้ำแข็ง มีบางข้อสงสัยว่าวัตถุที่ส่องสว่างนั้นคือเกลือแต่เกลือไม่หายไปอย่างนั้นแน่" ดร.สมิธกล่าว

หลังจากยานสามขาลงจอดอย่างนิ่มนวลบนดาวอังคารแล้วก็ทำการขุดเจาะพื้นผิวดาวแดงเพื่ออบในเตาทดสอบที่อยู่ใต้กล้องจุลทรรศน์ แม้ว่ายังไม่มีการค้นพบสิ่งที่ชวนให้ลิงโลดแต่สัปดาห์ที่ผ่านมายานฟีนิกซ์ก็ได้ขุดสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นก้อนน้ำแข็ง โดยเอพีซึ่งรายงานนี้เรื่องนี้ระบุนักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่าการทดลองของยานจะเผยให้เห็นว่าน้ำแข็งเคยละลายมาก่อนและมีองค์ประกอบอินทรีย์หรือสารประกอบที่มีคาร์บอนอยู่ด้วย

"เรามองหาส่วนประกอบพื้นฐานที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตเติบโตไปได้ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้" เอพีระบุคำพูดของ ดร.สมิธที่อธิบายเป้าหมายของการสำรวจ

การค้นพบรูปแบบชีวิตแบบสุดขั้วที่รู้จักกันในชื่อ "เอ็กตรีโมไฟล์ส" (extremophiles) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่คาดไม่ถึงตามซอกมุมและรอยแตกตามส่วนต่างๆ ของโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้เป็นข้อมูลช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกหรืออีที (extraterrestrial life: ET)

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ทนอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมอันทารุณบนโลกแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่ามีสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการบนดาวอังคาร แต่หากมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารทั้งในอดีตหรือปัจจุบันเอพีระบุว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวก็น่าจะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบสุดขั้วเช่นบนโลกคือเป็นจุลินทรีย์และทนทายาดตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ โดยสามารถทนต่ออุณหภูมิที่หนาวเย็นกว่าแอนตาร์ติกาและมีความดันต่ำมากๆ

"น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตจำนวนพวกจุลินทรีย์แต่ไม่น่าจะเป็นมนุษย์เขียวตัวจิ๋วแน่ๆ" ความเห็นของเคนเนธ สเต็ดแมน (Kenneth Stedman) นักชีววิทยาจากศูนย์ชีวิตในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว (Center for Life in Extreme Environments) แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ทแลนด์สเตท (Portland State University)

ทั้งนี้ยานฟีนิกซ์ไม่ได้นำเครื่องมือที่จะวิเคราะห์ฟอสซิลหรือสิ่งมีชีวิตไปด้วย แต่ก็มีเตาอบกับเครื่องวิเคราะห์ก๊าซที่จะให้ความร้อนดินและน้ำแข็งว่าสิ่งที่ระเหยออกมานั้นเป็นธาตุที่เอื้อต่อการมีชีวิตหรือไม่ ในส่วนของปฏิบัติการทดสอบความเป็นกรดหรือวัดค่าพีเอช (pH) ก็คล้ายกับสิ่งทีเกษตรกรต้องทำ สวนกล้องจุลทรรศน์ภายในยานก็จะทดสอบเม็ดดินเพื่อวิเคราะห์แร่ธาตุที่อาจบ่งชี้การน้ำในอดีต

สิ่งมีชีวิตบนโลกไม่ได้ต้องการแค่น้ำหากแต่ยังต้องการแสงแดด ออกซิเจนและคาร์บอนอินทรีย์ ถึงอย่างนั้นปัจจัยที่ชีวิตจะอยู่รอดได้ก็กว้างออกไปจากการค้นพบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งติดอยู่ในธารน้ำแข็งและหิน หรืออาศัยอยู่ในช่องภูเขาไฟและแม้กระทั่งในทะเลสาบที่เป็นกรด
 
เงื่อนไขสุดขั้วต่างๆ ที่พบบนโลกนั้นเป็นกระจกสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมอันไม่สามารถทนอยู่ได้บนดาวอังคารและบริเวณอื่นๆ ของระบบสุริยะ เอพีให้ข้อมูลอีกว่าทุกวันนี้ดาวอังคารเหมือนกันทะเลทรายที่ไม่สัญญาณของน้ำบนชั้นสภาพอากาศ แม้ว่าการศึกษาก้อนหินจะบ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งดาวดวงนี้เคยเปียกกว่านี้มาก่อน

นักวิจัยส่วนใหญ่ยอมรับว่าสิ่งมีชีวิตไม่อาจอาศัยอยู่ได้บนพื้นผิวดาวอังคารซึ่งถูกรังสีปะทะปริมาณมาก แต่ภาพถ่ายดาวเทียมก็เผยให้เห็นดาวที่ได้รับรังสีน้อยกว่า การสอดแนมดาวอังคารดังกล่าวยังบ่งชี้เป็นนัยๆ ว่ามีน้ำแข็งอยู่ใต้ดินใกล้บริเวณขั้วเหนือของดาว และยานฟีนิกซ์ก็ได้พบสิ่งที่เชื่อว่าเป็นน้ำแข็งในชั้นใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป 2 นิ้วและแม้ว่าจะยังไม่พบปัจจัยที่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาศัยอยู่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องส่งยานไปวิเคราะห์ว่าเคยมีหรือมีสิ่งมีชีวิตในตอนนี้หรือไม่

ครั้งสุดท้ายที่นาซาค้นหาสิ่งชีวิตคือช่วงปี 2519 ซึ่งได้ส่งยานแฝดไวกิง (Viking) ไปเก็บตัวอย่างดินดาวอังคารบริเวณเส้นศูนย์สูตรมาทดสอบแต่ก็พบกับความว่างเปล่า ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เลือกวิเคราะห์ดินบริเวณขั้วเหนือโดยเทียบเคียงการค้นพบชีวิตขนาดเล็กถูกเก็บรักษาอยู่ภายใต้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือนานหลายพันปีแล้วสามารกลับมามีชีวิตอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่เอื้ออำนวย

เมื่อปี 2548 นาซาประกาศว่าได้คืนชีพแบคทีเรียที่ถูกเก็บไว้ในน้ำแข็งบริเวณอลาสกาเป็นเวลานาน 32,000 ปี และเมื่อต้นเดือนนี้นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) ก็เผยว่าได้เพาะเลี้ยงแบคทีเรียชนิดที่เล็กมากซึ่งติดอยู่ในน้ำแข็งกรีนแลนด์ภายใต้ความดันสูงและมีออกซิเจนต่ำเป็นเวลาอย่างน้อย 120,000 ปี แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าสิ่งเหล่านี้มีความหมายอย่างไรสำหรับดาวอังคารและสิ่งแวดล้อมอันไม่เป็นมิตรอื่นๆ

"เราจำเป็นต้องเดินหน้าต่อเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวตประเภทเอ็กตรีโมไฟล์บนโลก สิ่งที่เราได้เรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นบนโลกคือการทำงาน ซึ่งการเรียนรู้ที่มากขึ้นจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการในอนาคต" สเต็ดแมนกล่าว
นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดในโบลเดอร์ (University of Colorado at Boulder) สหรัฐฯ พบแถบสีเขียวในชั้นหินซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์เล็กๆ (ภาพมหาวิทยาลัยโคโลราโด/เอพี)
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ กำลังค้นหาสิ่งมีชีวิตในทะเลทรายที่ชิลี (ภาพเอพี)
ภาพเปรียบเทียบวัตถุสีขาวที่ยานฟีนิกซ์ขุดพบโดยผ่านไป 4 ซอลบางส่วนได้หายซึ่งนักวิทยาศาสตรืบนโลกต่างเชื่อว่าเป็นการระเหยของน้ำแข็ง (ภาพนาซา/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น