xs
xsm
sm
md
lg

เป็นมากกว่ายาแก้ฟกช้ำใช้ "ไพล" ถูพื้นฆ่าเชื้อได้สารพัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางภัทรา อะหมะดี พีรซะหีด หัวหน้าโครงการผลิตภัณฑ์น้ำยาเช็ดพื้นจากไพล กับผลงานที่เพิ่งได้รับสิทธิบัตรสดๆ ร้อนๆ
ปกติเรารู้จัก "ไพล" ในฐานะเป็นสมุนไพรแก้ฟกช้ำ แต่นักวิจัย วว.ได้พัฒนาน้ำยาถูพื้นจากสมุนไพรชนิดนี้ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้สารพัด ทั้งจุลินทรีย์ก่อโรคทางเดินอาหาร ปอดอักเสบ สำไส้อักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบและอื่นๆ และเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้ง ลูกประคบ น้ำยารักษาแผลในช่องปาก น้ำยาอนามัยสำหรับสตรี เป็นต้น

จากการเปิดตัวโครงการบูรณาการไพลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.51 นี้ ณ ห้องประชุม วว.บางเขน ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมงานดังกล่าวทำให้เราได้รู้จัก "น้ำยาเช็ดพื้นจากไพล" ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย นางภัทรา อะหมะดี พีรซะหีด นักวิชาการประจำฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและหัวหน้าโครงการผลิตน้ำยาเช็ดพื้นจากไพล ของ วว.

นางภัทราระบุว่าน้ำยาเช็ดพื้นจากไพลมีฤทธิ์ฆ่าจุลินทรีย์ก่อโรคหลายชนิด ได้แก่ เชื้อสแต็ปฟีโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) สาเหตุของโรคทางเดินอาหาร, เคล็บเซลลานิวมอเนีย (Klebsiella pneumoniae) สาเหตุของโรคปอมบวมอักเสบ, ซูโดโมนาส เออรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) สาเหตุโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวมและอาการติดเชื้อทางผิวหนังดูคล้ายอีสุกอีใส, ซาลโมเนลลา เอสพีพี. (Salmonella spp.) สาเหตุของโรคเลือดเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ ไข้ไทฟอยด์, และชิเจลลา เอสพีพี. (Shigella spp.) สาเหตุของโรคบิด

"ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการพิสูจน์ผลทางจุลชีววิทยาและผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนังตามมาตรฐานสากลด้านผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสารเคมี "OECD Gui delines for testing of Chemicals (2001)" ของสหภาพยุโรปแล้ว โดยมีข้อดีคือเป็นสารธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ใช้ทำความสะอาดได้ทั้งพื้นปาเก้และพื้นเซรามิก เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ในท้องตลาดจะมีเพียงชนิดที่ผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์เท่านั้น" นางภัทรากล่าว

เมื่อทดสอบการใช้งานน้ำยาเช็ดพื้นจากไพลโดยกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไปจำนวน 170 คน นางภัทราเผยว่ากว่า 90% พอใจกับข้อดีที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง และอีกกว่า 85% พอใจในกลิ่นหอมเฉพาะตัวของไพลและผลงานนี้ยังได้รับการจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา และเชื่อว่าหากเอกชนรับไปในเชิงพาณิชย์จำนวนมากจะได้ต้นทุนที่แข่งขันกับน้ำยาเช็ดพื้นทั่วไปตามท้องตลาดได้ เนื่องจากมีต้นทุนเพียงลิตรละ 39 บาท ขณธที่น้ำยาเช็ดพื้นทั่วไปวางขายลิตรละ 60 บาท

นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังได้เปิดตัว "เครื่องสำอางรักษาสิวจากไพล" ซึ่งมีนางรัตนศิริ จิวานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องสำอางรักษาสิวจากไพล ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. เผยว่า ในการศึกษาได้วิจัยฤทธิ์ทางจุลชีววิทยาของน้ำมันไพลในการต้านเชื้อก่อโรคสิวคือ โพรพิโอนิแบคทีเรียม แอคเนส์ (Propionibacterium acnes) และศึกษาองค์ประกอบทางพฤกษเคมี ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ จนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รักษาสิวจากสมุนไพรไพลในที่สุด

"เมื่อร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทดสอบกับอาสาสมัครผู้ชาย 30 คนที่มีอาการของสิวในระดับความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นเวลา 1 เดือนพบว่าได้ผลน่าพอใจมาก อาการสิวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดและไม่มีผลข้างเคียง และเมื่อสำรวจการยอมรับกับผู้บริโภค 100 คนยังพบว่าได้รับคะแนนด้านความปลอดภัยสูงกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดชัดเจน โดยการผลิตระดับห้องปฏิบัติการ ครีมรักษาสิวจากไพล 8 กรัมมีต้นทุน 60 บาท และผลิตภัณฑ์นี้กำลังอยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร" นางรัตนศิริกล่าว

พร้อมกันนี้นายทวีศักดิ์ สุนทรธนศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและผอ.ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการบูรณาการไพลที่ได้ขอเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 120 ล้านบาท เผยว่าขณะนี้ วว.ยังได้พัฒนาผลงานวิจัยอื่นๆ จากไพลและจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ซึ่งที่น่าสนใจอาทิ ยาล้างแผล ยารักษาแผลในช่องปาก ลูกประคบ ผลิตภัณฑ์แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ผลิตภัณฑ์สำหรับสตรีหลังคลอด น้ำยาอนามัยสำหรับสตรี รวมถึงแชมพูกำจัดเห็บหมัดสุนัขจากไพล ด้วย

"ผลิตภัณฑ์จากไพลที่มีมูลค่ามากที่สุดคือกลุ่มยา แต่เนื่องจากต้องใช้เวลาศึกษายาวนานเพราะมีการทดสอบความปลอดภัยหลายขั้นตอน เราจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากไพลที่มีศักยภาพควบคู่ด้วย แม้มีมูลค่าน้อยกว่าแต่ก็มีปริมาณการใช้สอยมากกว่า" หัวหน้าชุดโครงการบูรณาการไพลกล่าว และเผยอีกว่าการวิจัยพัฒนาข้างต้นเป็นการเพิ่มค่าให้กับไพลซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีมากในประเทศได้อย่างมหาศาล เช่น ไพลสด 1 ตัน มูลค่าประมาณ 1,500 -2,000 จะมีค่ามากขึ้นเมื่อผลิตเป็นน้ำมันไพลบริสุทธิ์ที่มีการชั่งน้ำหนักขายเป็นกิโลกรัมๆ ละ 4,500 -5,000 บาท

ด้านผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในชุดโครงการบูรณาการไพล วว.สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว.โทรศัพท์ 0-2577-9000 ในวันและเวลาราชการหรือดูได้ที่เว็บไซต์ www.tistr.or.th .
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว.
นายทวีศักดิ์ สุนทรธนศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและผอ.ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการบูรณาการไพล
นางรัตนศิริ จิวานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องสำอางรักษาสิวจากไพลจากฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. พร้อมตัวอย่างผลงาน
นางกฤติยา ทิสยากร หัวหน้าโครงการยาทาภายนอกจากไพลชนิดลูกกลิ้ง และตัวอย่างผลงาน ซึ่งผลิตออกมาในรูปแบบลูกกลิ้งเจ้าแรกๆ เลยก็ว่าได้
นายอรรคชัย ตันตราวงศ์ หัวหน้าโครงการผลิตภัณฑ์เจลไพลบาล์ม พร้อมผลงานซึ่งจะให้ความรู้สึกร้อน ช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น
น.ส.อุบล ฤกษ์อ่ำ หัวหน้าโครงการผลิตภัณฑ์สปาไพล พร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาโชว์เล็กๆ น้อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น