xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยัน “โอเซลทามิเวียร์” ยังเอาอยู่! หวัด 2009 ยังไม่ดื้อยา และไม่กลายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ยันยังไม่พบเชื้อไวรัสหวัด 2009 ดื้อยาต้าน “โอเซลทามิเวียร์” และยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อแต่อย่างใด ยอมรับมีโอกาสกลายพันธุ์เพราะมีการใช้ยาต้านอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ และมีการเดินทางระหว่างประเทศของประชากรอย่างต่อเนื่อง

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังติดตามปัญหาการดื้อยาและการกลายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้น สธ.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญร่วมกันเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ทางห้องปฏิบัติการได้มอบหมายให้ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการ ซึ่งได้รับรายงานว่า ได้สุ่มเอาเชื้อไวรัสที่แยกได้จากกลุ่มผู้ป่วยในโรงเรียน สถาบันการศึกษา สถานบันเทิง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตมาทำการตรวจโดยวิธีขั้นต้นทางพันธุกรรม (Genotypic testing) เพื่อหาการกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา และวิธีตรวจยืนยันทางชีววิทยา (phenotypic testing) โดยการเติมยาต้านไวรัสในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส

“พบว่าเชื้อที่ศึกษาทั้งหมดยังคงตอบสนองต่อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงพันธุ์กรรมของไวรัสส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และไม่พบการกลายพันธุ์ใดๆ ที่ต่างจากเชื้อที่เริ่มระบาดในช่วงแรกๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเม็กชิโก อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เชื้อกลายพันธุ์และเชื้อดื้อยาจะระบาดเข้ามาในประเทศไทยก็มีได้มากเช่นกัน เนื่องจากมีการใช้ยาต้านไวรัสอย่างแพร่หลายในหลายประเทศและมีการเดินทาง ไปมาระหว่างประเทศของประชาชนอย่างต่อเนื่อง” รมว.สธ.กล่าว

นายวิทยากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยทำการแยกเชื้อไวรัส วิเคราะห์หาสายพันธุ์และคุณสมบัติของตัวไวรัสด้วยวิธีทางชีววิทยาโมเลกุลและวิธีทางชีวภาพ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งตัวอย่างเชื้อที่มีความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กับห้องปฏิบัติการสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อใช้ประโยชน์ในการคัดเลือก สายพันธุ์ไวรัสสำหรับการผลิตวัคซีนในแต่ละปี รวมถึงการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น