xs
xsm
sm
md
lg

Wolfgang Ernst Pauli อัจฉริยะ “ทายาท” ของไอน์สไตน์ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Erwin Schrocdinger
ผลงานเหล่านี้ทำให้ Pauli ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ทฤษฎีแห่ง Federal Institute of Technology ที่ Zurich ได้รับรางวัลเหรียญ Lorentz Medal ในปี 2473 รางวัล Franklin Medal ปี 2497 รางวัล Max Planck Medal ในปี 2501

คำถามหนึ่งที่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป คือ อะไรมาดลใจให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคิดหรือพบสูตรและความจริงต่างๆ สำหรับกรณีของ Werner Heisenberg ผู้สร้างวิชากลศาสตร์ควอนตัมนั้น เขาเล่าว่า เมื่อเขาล้มป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ และเหนื่อยอ่อนจากการครุ่นคิดเรื่องฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Gottingen เขาได้เดินทางไปพักผ่อนที่ Helgoland เมื่อปีนขึ้นยอดเขาเพื่อคอยดูพระอาทิตย์ขึ้น ขณะนั่งคอยสมองเขาครุ่นคิดเรื่อง สเปกตรัมมาตลอดเวลา และทันใดนั้นเขาก็เห็นความจริงว่า เวลาอิเล็กตรอนเปลี่ยนวงโคจรจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แล้วปล่อยแสงออกมา การเปลี่ยนตำแหน่งสามารถบรรยายได้ด้วย สมาชิกของ matrix ในวิชาคณิตศาสตร์ และนี่คือต้นกำเนิดของกลศาสตร์ควอนตัมที่ใช้ matrix ในการคำนวณ

และ Erwin Schrocdinger บิดาอีกคนหนึ่งของวิชากลศาสตร์ควอนตัมก็เล่าว่า ความสุขที่เขาได้จากการพาคู่รักไปพักผ่อนบนภูเขาในสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงคริสต์มาส ทำให้เขาพบว่า เขาสามารถใช้สมการคลื่นอธิบายพฤติกรรมของอิเล็กตรอนในอะตอมได้ และนี่คือต้นกำเนิดของกลศาสตร์ควอนตัมที่ใช้ สมการคลื่นในการคำนวณ

ส่วนในกรณีของ Pauli นั้น เขาเล่าว่า เขาพบหลัก Exclusion Princkiple ขณะอยู่ใน nightclub ที่ Hamburg

เพราะ Pauli มีผลงานที่ดีเด่นมากมาย ดังนั้น เขาจึงได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล Nobel หลายครั้ง เช่น ในปี 2478 von Laue (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 2457) Max Planck (รางวัลโนเบลปี 2461) ได้เสนอชื่อ Pauli ให้รับรางวัล แต่ไม่ได้ เมื่อถึงปี 2481 Erwin Schroedinger (รางวัลโนเบลปี 2476) ก็เคยเสนอชื่อ Pauli แต่ไม่ได้อีก จนถึงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2488 เมื่อ Albert Erinstein ส่งโทรเลขถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบล ที่ Stockholm โดยข้อความในโทรเลขเสนอให้ Pauli ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ด้วยผลงานการพบหลักการห้ามซ้อนทับ คณะกรรมการจึงตัดสินใจประกาศมอบรางวัลโนเบลให้ Pauli เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488

ในด้านชีวิตส่วนตัว Pauli เข้าพิธีสมรส 2 ครั้ง เมื่ออายุ 27 ปี แม่ของ Pauli ฆ่าตัวตาย และพ่อแต่งงานใหม่ Pauli จึงย้ายไปอยู่ที่ Switzerland ที่ Zurich ในปี 2471 และเป็นศาสตราจารย์ประจำที่ ETH จนถึงปี 2483 จึงอพยพไปทำงานต่อที่มหาวิทยาลัย Princeton ในสหรัฐอเมริกา เพราะสวิสปฏิเสธไม่ยอมให้ Pauli เปลี่ยนสัญชาติจากออสเตรียเป็นสวิส ในปี 2488 Pauli ได้รับข้อเสนอจาก Institute for Advanced Study ที่ Princeton ให้ไปทำงานประจำ แต่ Pauli ปฏิเสธ อีกหนึ่งปีต่อมา ก็ได้โอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน เพื่อจะได้มี passport เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ได้ จนถึงปี 2492 หลังจากที่ได้พยายามหลายครั้ง Pauli ก็ได้เป็นชาวสวิสดังที่ใจปรารถนา และได้เสียชีวิตที่ Zurich เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ขณะอายุ 58 ปี

ขณะมีชีวิตอยู่ Pauli เป็นที่เลื่องลือว่า เป็นคนที่นำโชคร้ายมาให้เพื่อนฝูง จนมีการกล่าวถึง Pauli effect ว่าถ้า Pauli มาหาใครที่ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ในห้องนั้นจะติดขัด หรือทำงานไม่ได้ทันที และในด้านอุปนิสัย Pauli ไม่สนใจคำเยินยอ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ ไม่ชอบการแข่งขัน แต่ชอบให้เครดิตคนอื่น ชอบเรียนรู้ และชอบเข้าใจเรื่องใหม่ๆ รวมทั้งชอบวิพากษ์วิจารณ์ความคิดคนอื่นด้วยถ้อยคำที่รุนแรง จนงานของใครก็ตามที่ถูก Pauli พูดว่า “ชุ่ย” นั่นคือ “จบ” ไม่ต้องพูดต่อ Pauli ชอบเขียนจดหมาย ชอบคุยกับเพื่อนบ้าน ชอบเดินเล่นหลังอาหารกลางวัน และเพื่อนคนสนิทคนหนึ่งของ Pauli คือ Carl Jung ผู้เป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้รักษา Pauli มานานถึง 26 ปี คือในปี 2475 Pauli มีอาการเศร้าซึมมาก จนต้องเข้ารับจิตบำบัดโดย Jung และ Jung ก็ได้วิเคราะห์ฝันทุกเรื่องของ Pauli เพราะ Jung คิดว่า Pauli เป็นคนไข้อุดมคติที่มีจิตใต้สำนึกมาก

ส่วน Pauli นั้นก็คิดว่า Jung เป็นจิตแพทย์ในอุดมคติเช่นกัน เพราะสามารถแปลปัญหาให้เป็นปัญญาได้ ดังในปี 2493 Pauli ได้เขียนหนังสือเรื่อง The Influence of Archetypal Ideas on the Scientific Theories of Kepler ซึ่งใช้แนวคิดของ Jung ส่วน Jung ในปี 2487 เมื่อเขียนเรื่อง Psychology and Alchemy ก็ได้อ้างถึงความฝันของ Pauli เช่นกัน การพึ่งพาอาศัยกันเช่นนี้ ทำให้ Pauli หายเศร้าซึมในที่สุด

เมื่อ 6 ปีก่อนนี้ Charles P. Enz ผู้เป็นศิษย์ และผู้ช่วยวิจัยคนสนิทของ Pauli ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ No Time To Be Brief : A Scientific Biography of Wolfgang Pauli ที่จัดพิมพ์โดย Oxford University Press, 2002 หนา 361 หน้า ราคา 60 ดอลลาร์ และเลข ISBN 0 -19-856-479-1 ออกวางจำหน่าย

Enz ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิสุดเลิฟของ Pauli ที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Pauli เช่น ช่วยตรวจการบ้านนิสิตที่ Pauli สอน ช่วยวิจัยและช่วยฟัง เพราะ Pauli ชอบให้มีคนนั่งฟังตนพูด แต่ในขณะเดียวกันตนก็ไม่ชอบฟังคนอื่นพูด ดังที่ Pauli พูดเสมอๆ ว่า Man muss nich soviel redden (one shouldn’t talk so much) และ Enz ก็ได้ตอกย้ำความคิดของ Pauli ในหนังสือว่า มนุษย์สามารถรู้ความลับของธรรมชาติได้ จากการค้นหาด้วยความเข้าใจของมนุษย์เอง.

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
Pauli
Werner Heisenberg
กำลังโหลดความคิดเห็น