xs
xsm
sm
md
lg

ไฉนจึงมองไม่เห็น "กลุ่มดาวคนคู่" ในช่วงมิถุนา เวลาแห่ง "ราศีคนคู่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามตำนานในเทพนิยายกรีกเล่าว่ากลุ่มดาวคนคู่บนท้องฟ้าคือพี่น้องฝาแฝด พอลลักซ์ และ คาสเตอร์ ที่เกิดจากเจ้าหญิงลีดาและเทพเซอุสที่แปลงกายมาในร่างหงส์ขาว (ภาพจาก philologos.org)
ค่ำคืนในช่วงเดือน ธ.ค. ทุกๆ ปีจะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวคนคู่หรือเจมินี เป็นฝนดาวตกเจมินิดส์อันงดงามให้เห็นกัน แต่เหตุไฉนใน "เดือนแห่งดาวคนคู่" เรากลับไม่สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวคนคู่ อยู่บนท้องฟ้ากันเล่า? แล้ว "ดาวคนคู่", "ดาวคู่แฝด" และ "คนคู่แฝด" นั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแบบไหนหนอ? ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ชวนคุณผู้อ่านมาหาคำตอบด้วยกันเลย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาได้จัดงาน "ครอบครัวฝาแฝดสุขสันต์ Happy Twins 2008" ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ในเดือนแห่งดาวคนคู่เพื่อคนมีฝาแฝดโดยเฉพาะ ที่น่าสนใจคือการผูกโยงเรื่องของ "ดาวคู่แฝด" และ "คนคู่แฝด" เข้าด้วยกัน พร้อมกับจัดฉายดาวรอบพิเศษด้วยเรื่อง "เรียนรู้ดาวคู่แฝด" รวม 3 รอบ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ เลยได้รับความรู้เรื่องดาวคู่แฝดและตำนานแห่งดาวคนคู่กลับมาด้วย

ครอบครัวฝาแฝดต่างตื่นเต้น และสนใจใคร่รู้เรื่องกลุ่มดาวคนคู่และดาวคู่แฝดอย่างมาก ภายในห้องฉายดาวกว่า 300 ที่นั่งจึงแทบไม่มีที่ว่างเหลือให้เห็น พอแสงไฟในห้องเริ่มหรี่ลง เสียงพูดคุยเซ็งแซ่ก็เริ่มเบาลงจนเงียบสนิทพร้อมกับที่ดาวบนท้องฟ้าจำลองเริ่มส่องสว่าง ซึ่งตรงกับดาวบนท้องฟ้าจริงในค่ำคืนนี้

เสียงวิทยากรที่บรรยายในวันนั้นเป็นของอาจารย์กระจ่าง ธรรมวีระพงศ์ ซึ่งเริ่มเกริ่นถึงดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้า กระทั่งนำเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ ที่นักดูดาวสมัยก่อนจินตนาการว่ากลุ่มดาวบริเวณนี้เป็นพี่น้องฝาแฝดกัน โดยชนชาติกรีกโบราณให้ชื่อว่า "พอลลักซ์" (Pollux) กับ "คาสเตอร์" (Castor) ขณะที่คนจีนโบราณเมื่อหลายพันปีก่อนก็จินตนาการกลุ่มดาวบริเวณนี้ว่าเป็นพี่น้องฝาแฝดเช่นเดียวกัน โดยทั้งคู่มีชื่อว่า "หยิน" และ "หยาง" นั่นเอง

ตำนานแห่งดวงดาวของคนคู่

แต่เรื่องราวที่ อ.กระจ่าง นำมาเล่าให้ฟังนั้นอ้างอิงตามเทพนิยายของชาวกรีก ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า จอมเทพแห่งท้องฟ้านามว่า "เซอุส" เกิดไปหลงรักเจ้าหญิงมนุษย์บนโลกที่ชื่อว่า "ลีดา" แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีในเมื่อตัวเองเป็นเทพ ก็เลยแปลงร่างเป็นหงส์ขาวไปรักกับเจ้าหญิงลีดา จนในที่สุดลีดาก็ตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมาเป็นไข่แฝด 2 ฟอง ฟองแรกแตกออกมาพี่น้องฝาแฝดชายชื่อว่า "พอลลักซ์" และ "คาสเตอร์" ส่วนอีกฟองหนึ่งแตกออกมาเป็นแฝดหญิงชื่อ "ไคลเทมเนสตรา" (Clytemnestra) และ "เฮเลน" (Helen) หรือที่รู้จักกันดีในนามเฮเลนแห่งกรุงทรอย

พอลลักซ์และคาสเตอร์เป็นคู่พี่น้องที่รักกันมาก ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด เมื่อพบเห็นคนใดจะต้องพบอีกคนหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ ทั้งยังเก่งกล้าสามารถทั้งสองคน ยามศึกสงครามจึงออกรบด้วยกันทุกครั้ง

ทว่าพี่น้องสองคนนี้มีบางสิ่งแตกต่างกัน นั่นคือคนหนึ่งเป็นอมตะ ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อ แต่อีกคนหนึ่งไม่เป็นอมตะเหมือนผู้เป็นแม่ เมื่อถึงเวลาที่คาสเตอร์ ฝาแฝดผู้ไม่เป็นอมตะสิ้นชีวิตลง พอลลักซ์ผู้เป็นอมตะก็เศร้าเสียใจมาก จึงได้ไปขอร้องต่อจอมเทพเซอุสผู้เป็นบิดาให้ช่วยทำให้แฝดอีกคนฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง แต่เทพซีอุสจึงมิอาจทำเช่นนั้นได้ พอลลักซ์จึงขอให้ทำให้เขาตายไปด้วยอีกคนหนึ่ง ซึ่งเทพซีอุสก็ไม่สามารถทำให้ได้อีกเช่นกัน

เมื่อเห็นว่าทั้งสองรักใคร่กันมากและไม่อยากพรากจากกัน เทพซีอุสจึงนำพาพอลลักซ์กับคาสเตอร์ขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าด้วยกัน เป็นกลุ่มดาวบนท้องฟ้าที่เรียกว่า กลุ่มดาวคนคู่ หรือเจมินี (Gemini) ซึ่งเป็นดาวประจำราศีเมถุน

ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และกลุ่มดาวคนคู่

ในช่วงเวลา 1 ปี ดวงอาทิตย์จะค่อยๆ โคจรผ่านไปยังกลุ่มดาวต่างๆ ครบทั้ง 12 กลุ่มดาวในจักรราศี และวนกลับมาอยู่ในกลุ่มดาวกลุ่มเดิมอีกครั้ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันของแต่ละปี และในเดือน มิ.ย. ของทุกๆ ปี ดวงอาทิตย์จะย้ายจากกลุ่มดาววัวเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ ทว่าเมื่อยามที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าในช่วงกลางวัน เราจะไม่สามารถมองเห็นดวงดาวได้เลย แล้วนักดาราศาสตร์รู้ได้อย่างไรล่ะว่า ดวงอาทิตย์ได้เข้ามาสู่กลุ่มดาวคนคู่แล้วในเดือน มิ.ย.

อ.กระจ่าง มีคำตอบว่า เมื่อดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว นักดาราศาสตร์จะมองเห็นกลุ่มดาวสิงโตอยู่เหนือกลุ่มดาวปูทางด้านทิศตะวันตก และจะมีดาวอีก 2 ดวงปรากฏอยู่ใกล้กับขอบฟ้า ใต้กลุ่มดาวปู นั่นคือดาวที่แสดงตำแหน่งส่วนหัวของพอลลักซ์และคาสเตอร์ในกลุ่มดาวคนคู่ที่เพิ่งลับขอบฟ้าไปพร้อมๆ กับดวงอาทิตย์แล้วนั่นเอง จึงทำให้รู้ได้ว่า ณ เวลานี้ดวงอาทิตย์ได้ย้ายจากกลุ่มดาววัวสู่กลุ่มดาวคนคู่แล้ว และอีกราว 1 เดือนถัดไปในเดือน ก.ค. ดวงอาทิตย์ก็จะออกจากกลุ่มดาวคนคู่เข้าสู่กลุ่มดาวปู กลุ่มดาวสิงโต และกลุ่มดาวต่างๆ จนกระทั่งกลับเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่อีกครั้งในเดือน มิ.ย. ของปีหน้า

ในทางดาราศาสตร์กำหนดให้ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.-19 ก.ค. ของทุกปี ส่วนโหราศาสตร์กำหนดให้เป็นช่วงระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ก.ค. ของทุกปี จะเห็นได้ว่าคลาดเคลื่อนจากกันอยู่หลายวัน

เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากโหราศาสตร์เกิดขึ้นมานานหลายพันปี มีชาวบาบิโลเนียเป็นผู้คิดแบ่งกลุ่มดาวขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาถึงกลุ่มดาวแกะเป็นจุดเริ่มต้นของราศีเมษ ราศีแรกของปี แต่เนื่องจากการส่ายของแกนโลก ทำให้ปัจจุบันจุดเริ่มต้นเข้าสู่ราศีเมษค่อยๆ เลื่อนห่างไปทางตะวันตกของกลุ่มดาวแกะ เป็นผลให้จุดเริ่มต้นเข้าสู่ราศีเมถุนของโหราศาสตร์เลื่อนไปทางตะวันตกของกลุ่มดาวเมถุนเช่นกัน

สรุปได้ว่าดาราศาสตร์ศึกษาและสังเกตดวงอาทิตย์ตามตำแหน่งจริงที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ส่วนโหราศาสตร์ยังคงใช้ตำแหน่งเดิมบนท้องฟ้าเมื่อหลายพันปีก่อนในการอ่านรหัสดวงดาวบอกความหมายเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นแฝดแต่อย่างใด คู่แฝดอาจเกิดเดือนใดก็ได้ในรอบปี ไม่จำเป็นต้องเกิดในเดือน มิ.ย. หรือเดือนแห่งดาวคนคู่ ทำนองเดียวกันเมื่อวางลัคณาจากเวลาเกิดเทียบกับดวงอาทิตย์ตามหลักโหราศาสตร์แล้ว ฝาแฝดก็อาจมีลัคณาอยู่ในราศีใดๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีลัคณาอยู่ในราศีเมถุนเสมอไป (ข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ในงาน "ครอบครัวฝาแฝดสุขสันต์ Happy Twins 2008", สาลิน วิรบุตร์)

รู้จักดาวคู่แฝดที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด

คู่แฝดบนท้องฟ้าไม่ได้มีแค่กลุ่มดาวคนคู่เท่านั้น อ.กระจ่าง บอกว่ายังมีดาวฝาแฝดหรือดาวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันอีกมากมาย ทั้งแฝด 2 ดวง หรืออาจมากกว่านั้นนับพันนับหมื่นดวง แต่จะเรียกดาวที่เกิดพร้อมๆ กันเหล่านั้นว่า กระจุกดาว แทนการเรียกว่าดาวฝาแฝด

ดาวคู่แฝดที่น่าสนใจมากคือดาวแอลฟาเซนทอรี (Alpha Centauri) ที่เราสามารถมองเห็นดาวดวงนี้ส่องสว่างมากๆ อยู่ทางท้องฟ้าด้านทิศใต้ ซึ่งต่อมานักดาราศาสตร์พบว่าดาวแอลฟาเซนทอรีเป็นดาวฤกษ์ดวงที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ของเรามากที่สุด โดยห่างออกไปประมาณ 4.4 ล้านปี และเป็นดาวบนท้องฟ้าที่สว่างที่สุดใน 10 อันดับแรก

ทว่าที่น่าสนใจกว่านั้นคือเมื่อนักดาราศาสตร์ศึกษาดาวแอลฟาเซนทอรีจากกล้องโทรทัศน์ก็พบว่าที่จริงแล้วดาวแอลฟาเซนทอรีที่เรามองเห็นเมื่อดูด้วยตาเปล่านั้นประกอบไปด้วยดาว 2 ดวง ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และโคจรรอบกันและกัน จึงนับว่าเป็นดาวฝาแฝดอย่างแท้จริง และให้ชื่อว่าดาวแอลฟาเซนทอรี เอ (Alpha Centauri A) และแอลฟาเซนทอรี บี (Alpha Centauri B)

แต่ทั้งแอลฟาเซนทอรี เอ และ บี ก็ยังมีดาวอีกดวงหนึ่งโคจรอยู่รอบทั้ง 2 ดวง นั่นคือดาว แอลฟาเซนทอรี ซี (Alpha Centauri C) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พรอกซิมา (Proxima) นักดาราศาสตร์เลยเรียกดาวกลุ่มนี้ว่า พรอกซิมาเซนทอรี (Proxima Centauri) ที่นับได้ว่าเป็นดาวแฝด 3 ดวง
คนจีนในสมัยโบราณก็จินตนาการกลุ่มดาวคนคู่ว่าเป็นฝาแฝดเช่นกัน แต่มีชื่อว่า หยิน และ หยาง (ภาพจาก www.utahskies.org)
พอลลักซ์และคาสเตอร์ สองพี่น้องฝาแฝดที่รักกันมากและไม่ยอมให้ความตายมาพรากจากกัน เทพเซอุสจึงส่งให้ทั้งสองคนอยู่คู่กันเป็นดาวประดับท้องฟ้าที่เรียกว่า กลุ่มดาวคนคู่ (ภาพจาก ottawa.rasc.ca)
ดวงอาทิตย์จะย้ายจากกลุ่มดาววัวเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เดือนนี้จึงเป็นเดือนแห่งดาวคนคู่ (ภาพจาก www.astrologyweekly.com)
อาจารย์กระจ่าง ธรรมวีระพงษ์ นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ รับหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง เรียนรู้ดาวคู่แฝด ในวันครอบครัวฝาแฝดสุขสันต์
กำลังโหลดความคิดเห็น