หมอผู้ก่อตั้งมูลนิธิหู คอ จมูก "นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล" ได้รับรางวัลมหิดล-บี บราวน์ ประจำปี 51 จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มานานกว่า 30 ปี และพัฒนากล้องไมโครสโคปผ่าตัดหู ให้พกพาไปรักษาผู้ป่วยหูน้ำหนวกได้ทุกที่ในชนบทห่างไกล จนปัจจุบันแทบไม่มีคนไทยเป็นโรคหูน้ำหนวกและฝีในสมองอีกแล้ว
นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล อดีตแพทย์และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผันตัวมาร่วมเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และก่อตั้งมูลนิธิหู คอ จมูกชนบท ได้รับรางวัลมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี 2551 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัท บี บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานแถลงข่าวและพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.51 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมสุโขทัย โดยมีสื่อมวลชนหลายแขนงรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ไปร่วมงานด้วย
หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ศัลยเวทย์ ก็ไปศึกษาต่อเฉพาะทางทางด้านหู คอ จมูก ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วอชิงตัน (Washington Hospital Center) กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 7 ปี และกลับมาเป็นแพทย์และอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อีก 4 ปี (2515-2518) จึงลาออกจากราชการเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับมูลนิธิหู คอ จมูกชนบท และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ตนเองเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 2515
นพ.ศัลยเวทย์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า หลังจากได้ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยยากไร้ในชนบทครั้งแรกๆ ก็พบว่าคนไทยในชนบทเป็นโรคหูน้ำหนวกจำนวนมาก และต้องทุกข์ทรมานจากอาการหนองไหลเรื้อรัง เนื่องจากประชาชนก็ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
ขณะที่ในตอนนั้นประเทศไทยมีแพทย์หู คอ จมูก อยู่เพียง 26 คนเท่านั้น ประกอบกับ นพ.ศัลยเวทย์ อยากใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงตัดสินใจลาออกจากราชการและอุทิศตนให้กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ในชนบท ขณะเดียวกันก็เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ชนบทด้วย
"เมื่อ 30 กว่าปีก่อน คนไทยเป็นโรคหูน้ำหนวกกันมาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก มีผู้ป่วยหลายรายอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นฝีในสมอง โดยที่ไม่ทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากอาการหูน้ำหนวก และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเนื่องจากฝีในสมองแตก เหตุเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางเพื่อไปเข้ารับการรักษาในกรุงเทพฯ ได้ทันท่วงที อีกทั้งขณะนั้นประเทศไทยขาดแคลนเครื่องมือแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหู คอ จมูก" นายแพทย์วัย 69 ปี กล่าวถึงสถานการณ์โรคหูน้ำหนวกของประเทศไทยในอดีต
ขณะที่เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นหลายชนิดมีขนาดใหญ่ ขนย้ายลำบาก นพ.ศัลยเวทย์ก็คิดค้นดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น และสะดวกต่อการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่สำคัญคือ กล้องไมโครสโคปผ่าตัดหู ที่ค่อนข้างหนัก และต้องนำเข้ามาในราคา 1 ล้านบาท นพ.ศัลยเวทย์ ก็ดัดแปลงให้มีน้ำหนักเบาขึ้นโดยใช้อุปกรณ์บางส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ ยกเว้นส่วนของเลนส์ที่ยังต้องนำเข้า แต่ก็ช่วยให้ได้กล้องไมโครสโคปที่ราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง และยังสามารถแยกชิ้นส่วนและประกอบขึ้นใช้งานใหม่ได้ไม่ยาก
"กล้องไมโครสโคปจำเป็นอย่างยิ่งต่อการผ่าตัดรักษาแก้วหู เพราะข้างในหูเล็กและมืด แต่แพทย์ต้องเห็นรายละเอียดภายในอย่างชัดเจนจึงจะรักษาได้ ซึ่งต้องใช้กล้องช่วย" นพ.ศัลยเวทย์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์แพทย์ชิ้นเล็กสำหรับตรวจและรักษาหรือผ่าตัดหู คอ จมูก จำนวนมาก ที่นพ.ศัลยเวทย์ ก็ได้ดัดแปลงให้สามารถรวมอยู่ในกระเป๋าหิ้วไปใช้งานได้ในทุกที่ รวมทั้งยังได้ร่วมพัฒนาเครื่องตรวจวัดการได้ยินให้มีราคาถูกและใช้งานง่ายสำหรับใช้กับผู้ป่วยหูตึงและหูหนวก เป็นต้น
จากการบุกเบิกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และอุทิศตนให้กับมูลนิธิหู คอ จมูกชนบท ของนพ.ศัลยเวทย์ มาเป็นเวลา 37 ปี ทั่วประเทศเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และตอนใต้ของประเทศจีน ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก กระจายอยู่ทั่วประเทศร่วม 700 คน ขณะที่ผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกก็ลดลงไปมากราว 10 เท่า จนปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศ จะพบก็แต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลมากๆ ทว่าอาการไม่รุนแรงมากเท่าแต่ก่อน
ทั้งนี้ นพ.ศัลยเวทย์ อธิบายว่า โรคหูน้ำหนวกเกิดจากร่างกายอ่อนแอ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ประกอบกับมีอาการแก้วหูทะลุ และภายในหูสกปรก ซึ่งเพียงแค่ติดเชื้อไข้หวัดธรรมดาก็อาจทำให้เป็นโรคหูน้ำหนวกตามมาได้ เพราะหู คอ และจมูกนั้นเชื่อมถึงกัน ทว่าการแพทย์ในปัจจุบันทำให้เด็กและประชาชนได้รับการรักษาที่ดีขึ้น ทำให้โอกาสเป็นโรคหูน้ำหนวกน้อยมาก
อย่างไรก็ดี นพ.ศัลยเวทย์ ฝากคำแนะนำให้ว่าไม่ควรแคะหูด้วยวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ก้านสำลีแคะหู เนื่องจากอาจทำให้แก้วหูทะลุได้ พร้อมกับบอกว่า "ขี้หูไม่ใช่ขี้ของหู" และร่างกายของเราจะมีกลไกขับขี้หูออกมาได้เองโดยที่เราไม่ต้องเอาอะไรเข้าไปแคะให้ออกมา
ในตอนท้าย นพ.ศัลยเวทย์ กล่าวถึงรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รางวัลนี้ โดยคิดว่าตนเองน่าจะได้รางวัลจากการที่ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยหู คอ จมูก ในชนบทมานานถึง 37 ปี และอยากให้การได้รับรางวัลของตนในครั้งนี้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้กับแพทย์สาขาอื่นๆ ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กันมากขึ้น เช่น หมอกระดูก, หมอเอ็กซ์-เรย์ เป็นต้น เพราะยังมีผู้ป่วยเหล่านี้อีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการรักษา
"การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนนอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ท้องถิ่น เป็นการเผื่อแผ่ความรู้ให้กับหมอในต่างจังหวัด ขณะเดียวกันเราก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เพิ่มพูนประสบการณ์ในการรักษาได้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเรียนจบแล้วก็คิดว่าตัวเองเก่งได้เลย แต่มันยังมีความรู้ใหม่ๆ อีกมากให้เราศึกษาเพิ่มเติมจากความรู้ที่เราเรียนจบมาแล้วหลายปี" นพ.ศัลยเวทย์กล่าว
ด้วยชื่อว่า "ศัลยเวทย์" ประกอบกับการปฏิบัติตนที่อุทิศทั้งชีวิตหมอเพื่อผู้ป่วยโดยแท้จริง ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้ถามเพิ่มเติมว่าชื่อของนพ.ศัลยเวทย์นั้นมีที่มาอย่างไร
"พ่อผมเป็นหมอ (นพ.บุญส่ง เลขะกุล) ก็อยากให้ลูกทุกคนเป็นหมอด้วยเหมือนกัน เลยตั้งชื่อลูกให้มีความหมายในทางการแพทย์เหมือนกันหมดทุกคน แต่มีเพียง 3 คน ที่เป็นหมอ จากทั้งหมด 5 คน ซึ่งชื่อ "ศัลยเวทย์" แปลว่า ผู้มีความรู้เรื่องการผ่าตัด" นพ.ศัลยเวทย์ ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมทางโทรศัพท์ ซึ่งพี่น้องของนพ.ศัลยเวทย์ อีก 2 คน ที่เป็นหมอเช่นกัน คือ ทันตแพทย์ศัลยวิทย์ เลขะกุล และนายแพทย์โอสถ เลขะกุล
ทั้งนี้ นพ.ศัลยเวทย์ จะเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดลในวันที่ 15 ก.ค.51 ณ หอประชุมกองทัพเรือ และยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณพร้อมกับเงินรางวัลอีกจำนวน 700,000 บาท
สำหรับรางวัลมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัท บี บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อมอบรางวัลให้แก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้อุทิศตน เสียสละ มีความยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ปฏิบัติงานเพื่อการค้นคว้าวิจัย คิดค้นเทคนิควิธีการรักษาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวไทยและมนุษยชาติ โดยปีนี้มอบรางวัลเป็นปีที่ 16 แล้ว.