เราอาจเคยได้ยินกิตติศัพท์อันเก่งกาจของเจ้าจ๋อในเรื่องการหาอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการปีนป่ายหาผลไม้ในป่า หรือแม้แต่ฉกฉวยขโมยกล้วยจากมือของนักท่องเที่ยวเอาดื้อๆ แต่ที่น่าแปลกเห็นจะเป็น "ลิงแสมจับปลา" ที่นักวิทยาศาสตร์พบเห็นในอินโดนีเซียถึง 4 ครั้งด้วยกัน
ทีมนักวิจัยจาก 2 องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เดอะเนเจอร์คอนเซอเวนซี (The Nature Conservancy) และเกรทเอพทรัสต์ (Great Ape Trust) ร่วมกันศึกษาพฤติกรรมของลิงแสมหรือลิงหางยาว (long-tailed macaque) ในประเทศอินโดนีเซีย ก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าพวกลิงเหล่านั้นสามารถจับปลาเล็กๆ ในแม่น้ำกินเป็นอาหารได้ด้วย ซึ่งลิงชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าพวกมันกินผลไม้เป็นหลัก หรือสัตว์จำพวกปูและแมลงชนิดต่างๆ บ้าง แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจับปลากินด้วยเหมือนกัน
ตามรายงานจากสำนักข่าวเอพีระบุไว้ว่านักวิทยาศาสตร์พบเห็นลิงแสมในจังหวัดกะลิมันตันตะวันออก และสุมาตราเหนือ มีพฤติกรรมแปลกประหลาด นั่นคือจับปลาขนาดเล็กในแม่น้ำกินเป็นอาหารด้วยสองมือของมันเอง ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบเห็นพฤติกรรมลักษณะนี้ถึง 4 ครั้งด้วยกัน โดยพบเห็นในปี 2541 และ 2550 อย่างละ 2 ครั้ง
"มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากที่เราได้พบเห็นพฤติกรรมแบบใหม่ของลิงแสมหลังจากเฝ้าติดตามมาหลายปี" คำบอกเล่าของเอริค เมจาร์ด (Erik Meijaard) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์จากเดอะเนเจอร์คอนเซอเวนซีที่ศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำนักข่าวเอพีรายงานว่าผลงานเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารอินเตอร์เนชันเนล เจอร์นัล ออฟ ไพรเมโทโลจี (International Journal of Primatology) ฉบับของเดือนที่ผ่านมา
เมจาร์ดกล่าวต่อไปว่านักวิจัยยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ฝูงลิงแสมเหล่านี้จับปลากินเป็นอาหาร แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและแหล่งอาหาร พวกลิงจึงมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
"ลิงแสมพวกนี้เป็นเผ่าพันธุ์ที่เหลือรอดอยู่ได้ด้วยการเรียนรู้ที่จะรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นได้ในระบบนิเวศน์" เมจาร์ดกล่าว
อย่างไรก็ดี นักวิจัยในทีมคนอื่นๆ ระบุว่าพฤติกรรมการจับปลาของลิงจัดเป็นพฤติกรรมที่พบไม่บ่อยนักและยังเป็นพฤติกรรมแปลกแยกด้วย ซึ่งก็ยังมีลิงบางชนิดที่มีพฤติกรรมคล้ายกันนี้ เช่น ลิงญี่ปุ่น (Japanese macaque), ลิงแชคมาบาบูน (chacma baboon), ลิงโอลีฟบาบูน (olive baboon), ชิมแปนซี และอุรังอุตัง
ด้านอากัสติน เฟนเตส (Agustin Fuentes) ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์เทอดาม (University of Notre Dame) มลรัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ที่สนใจศึกษาเรื่องราวของลิงแสมในอินโดนีเซีย บาหลี และสิงคโปร์ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยข้างต้น กล่าวว่า การที่นักวิจัยพบว่าลิงแสมจับปลาได้นั้นไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับเขา เพราะลิงแสมนั้นปรับตัวได้ง่ายมาก
เขายังบอกอีกว่าหากพวกเราลองให้ลิงแสมได้ลิ้มรสอาหารอันโอชะบางอย่างแล้ว พวกมันจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ลิ้มรสอีกครั้ง และเขาก็เคยพบเห็นพฤติกรรมลักษณะนี้มาแล้วในบาหลีเมื่อครั้งที่เขาเฝ้าสังเกตลิงแสมหากบหาปูอยู่ในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง และมันเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อของเขาที่ว่าพวกลิงแสมเหล่านี้มีความสามารถมากขึ้นเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเขตชุมชนเมืองหรือพื้นที่เกษตรกรรมตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซียขึ้นไปถึงประเทศไทยตอนบน ซึ่งมันเป็นบททดสอบให้กับสัตว์ที่กำลังถูกคุกคามแหล่งที่อยู่และอาหาร
"พวกเราสังเกตลิงหลายชนิดแล้วก็เห็นว่าพฤติกรรมการจับปลาของพวกมันยังไม่ดีเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันลิงแสมกลับทำได้ดีกกว่า ซึ่งเราควรจะศึกษาต่อไปว่าเพราะอะไรสิงแสมจึงทำได้ดีกว่าลิงอื่นๆ" เฟนเตสแนะ
อย่างไรก็ดี ทั้งเฟนเตสและเมจาร์ดต่างก็เห็นพ้องว่าควรศึกษาพฤติกรรมการจับปลาของลิงแสมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่ามีนัยสำคัญอย่างไร มีปัจจัยใดเป็นเครื่องกระตุ้น และเป็นพฤติกรรมปรกติของลิงชนิดนี้หรือไม่