สาวๆ หลายคนอาจหนักใจยิ่งกว่าเดิม เมื่อพบยามเครียดทีไรเป็นต้องหม่ำมากเกินไปทุกที เป็นผลให้เกิดความเครียดเรื่องน้ำหนักตัว และไขมันส่วนเกินเพื่อเข้ามาอีกเรื่อง ล่าสุดนักวิจัยเขาพบแล้วว่า ความเครียดมีผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นหิวมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวบีบีซีนิวส์รายงานว่า วารสารเนเจอร์นิวโรไซน์ (Nature Neuroscience) ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การแพทย์เซาธ์เวสเทิร์น มหาวิทยาลัยแห่งเทกซัส (University of Texas Southwestern Medical Center) เมืองดัลลาส มลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ที่พบว่าหนูที่มีความเครียดมาก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) มากกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้หนูรู้สึกเครียดน้อยลงด้วย
ดร.เจฟฟรีย์ ซิกแมน (Dr Jeffrey Zigman) หัวหน้าคณะและทีมวิจัยได้ทดลองโดยงดให้อาหารกับหนูทดลองเป็นเวลา 10 วัน พบว่าหนูกลุ่มดังกล่าว มีการหลั่งฮอร์โมนเกรลินมากกว่าปกติถึง 4 เท่า เมื่อทดลองให้หนูที่อดอาหารเดินวนเวียนในเขาวงกต รวมทั้งทดสอบด้วยวิธีการกระตุ้นให้เกิดความเครียดในรูปแบบต่างๆ เปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารตามปกติก็พบว่าหนูกลุ่มทดลองนั้นแสดงอาการเครียดน้อยกว่า
ทั้งนี้ เกรลินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกาย จะหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารเมื่อยามที่ท้องว่าง ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังสมองและกระตุ้นให้เกิดความหิว เพื่อให้ร่างกายรู้สึกอยากอาหาร
นักวิจัยยังศึกษาเพิ่มเติมในหนูดัดแปลงพันธุกรรม ที่ถูกดัดแปลงให้ไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเกรลินได้ เมื่อเลี้ยงหนูเหล่านี้ด้วยอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ก็พบว่าพวกหนูดัดแปลงพันธุกรรมไม่สามารถลดความเครียดลงได้ และเมื่อทดลองกระตุ้นหนูด้วยสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้หนูเกิดความเครียด ผลปรากฏว่าหนูดัดแปลงพันธุกรรมก็ไม่แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองต่อฮอร์โมนเกรลินแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีอาการเครียดสูงกว่าหนูปกติ
ดร.ซิกแมน กล่าวว่าการศึกษานี้ทำให้เข้าใจว่าความเครียดเป็นสาเหตุให้ระดับฮอร์โมนเกรลินในร่างกายสูงขึ้นได้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีความสัมพันธ์กัน โดยเป็นกลไกอย่างหนึ่งของร่างกายเพื่อตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้น เมื่อระดับฮอร์โมนเกรลินสูงขึ้น ความตึงเครียดจะลดน้อยลง ทว่ากลับมีผลข้างเคียงที่ไม่น่าพิศมัยเท่าใดนัก เพราะเมื่อฮอร์โมนเกรลินเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้รู้สึกหิวและอยากกินอาหารมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งหากบริโภคมากขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตามมาภายหลังได้
อย่างไรก็ดี ไซน์เดลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทีมนักวิจัยตั้งเป้าจะศึกษาต่อไปว่าฮอร์โมนเกรลินช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร และไปมีผลต่อสมองส่วนใด
ส่วนองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองล่าสุดนี้ นักวิจัยก็หวังว่าจะช่วยให้สามารถพัฒนายารักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไม่อยากอาหารให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ขณะเดียวกันก็จะพัฒนายาที่ช่วยควบคุมอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีปัญหาน้ำหนักมากจากการบริโภคอาหารมากเกินไป ทว่า ดร.ซิกแมน ก็ตั้งข้อสังเกตว่า หากควบคุมอาหารโดยการยับยั้งการส่งสัญญาณกระตุ้นความหิวของฮอร์โมนเกรลิน ก็อาจส่งผลให้บุคคลนั้นเกิดความเครียดมากขึ้น และย่อมไม่เป็นผลดีต่อร่างกายและจิตใจอย่างแน่นอน