xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซบุกชูป้าย "นิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบ" กลางงาน "อาเซียนพลัสทรี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีซ บุกการประชุมอาเซียนพลัสทรี เพื่อต่อต้านแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ โดยเชื่อว่าไม่ใช่ทางออกของปัญหาพลังงานและปัญหาโลกร้อน
กรีนพีซบุกงานอาเซียนพลัสทรี ต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ยืนยันไม่เชื่อเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อนและความมั่นคงทางพลังงาน ระบุเทคโนโลยียังไม่ปลอดภัยแม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด หวั่นงบบานปลาย และการก่อสร้างที่ยืดเยื้อ

ยุคน้ำมันราคาแพง พลังงานนิวเคลียร์มักถูกหยิบขึ้นมาเป็นคำตอบ โดยเมื่อช่วงสายวันที่ 17 มิ.ย.51 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำคณะสื่อมวลชนรวมถึงผู้จัดการวิทยาศาสตร์ บุกไปยังงานประชุมอาเซียนพลัสทรี (ASEAN +3) "ความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์" ณ โรงแรมพลาซาเอทธินี ถนนราชดำริ เพื่อต่อต้านแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัฐบาล

ทั้งนี้ อาสาสมัครกรีนพีซได้นำป้ายผ้า "นิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบ" (Nuclear Is Not The Answer.) และภาพตัวอย่างผู้ประสบภัยจากนิวเคลียร์ไปจัดแสดงบริเวณหน้างาน พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงพลังงานออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนถึงนางพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน

อย่างไรก็ดี ระหว่างดำเนินกิจกรรมต่อต้าน ฝ่ายจัดการประชุมได้เจรจาให้อาสาสมัครกรีนพีซเปลี่ยนจุดยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อเลี่ยงบริเวณหน้าห้องประชุมในช่วงก่อนพักรับประทานอาหารว่าง โดยเชิญ พ.ต.อ.สุทิน พ่วงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย พร้อมแจงเหตุผลว่าเป็นการประชุมนานาชาติที่อยากให้ช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ

จนที่สุดนายชวลิต พิชาลัย รองผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมาเจรจาให้อาสาสมัครกรีนพีซย้ายจุดยื่นหนังสือไปยังด้านหน้าของโรงแรม โดยมีตัวนายชวลิตเป็นผู้รับทราบเหตุผลและรับหนังสือร้องเรียนจากนายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ประจำประเทศไทยของกรีนพีซ ซึ่งแสดงจุดยืนว่ากรีนพีซไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิวเคลียร์ในไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

นายธารา ให้เหตุผลว่า เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนและปัญหาความมั่นคงทางพลังงานได้ตามที่มักอ้างถึง แต่มีความพยายามจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ต้องการขายเทคโนโลยีให้แก่ประเทศในภูมิภาค แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะยังไม่มีหลักประกันความปลอดภัยก็ตามที

โดยเฉพาะกรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอกิอูโลโตในฟินแลนด์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้ายุคใหม่ที่อ้างว่ามีความปลอดภัยมากและจะไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลและทรีไมล์ไอส์แลนด์อีก ทว่ากลับพบจุดบกพร่องระหว่างการก่อสร้างมากถึง 1,500 จุด ทำให้ต้องสร้างไปแก้ไปจนงบประมาณบานปลาย และการก่อสร้างยืดเยื้อจากเดิมถึง 4 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ

"ข้อเสนอของเราคือคุณคุยกันเรื่องอื่นได้ไหม มีเรื่องอื่นให้คุยมากมาย ไม่ต้องมาคุยเรื่องนิวเคลียร์" นายธารากล่าว โดยเสนอว่า ประเทศไทยควรส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในการแก้ปัญหา รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการกระจายศูนย์ผู้ผลิตพลังงานแทน

ขณะที่นายชวลิต เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลายสำนักพร้อมผู้จัดการวิทยาศาสตร์ โดยยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขณะนี้ ทว่าเป็นการศึกษาเตรียมพร้อมล่วงหนน้าในยุคน้ำมันราคาแพง โดยเป็นการหารือระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งบางประเทศสนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยยังมีประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากกว่าร่วมให้คำแนะนำ

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หากมีการก่อสร้างจริงขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 4 โรงภายในปี 2564 นั้น รอง ผอ.สนพ.กล่าวว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล 10 แห่งที่เคยมีการศึกษาในอดีต เพื่อคัดให้เหลือเพียง 3 จุดภายใต้การทำงานของคณะอนุกรรมการซึ่งมีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานและ ผอ.สำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (สพน) เป็นประธาน

สำหรับการประชุมอาเซียนพลัสทรีนี้จัดขึ้นโดยกระทรวงพลังงาน และมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พร้อมด้วยอีก 3 ชาติคือ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้าร่วมงาน
อาสาสมัครกรีนพีซถือป้ายผ้า Nuclear Is Not The Answer. หรือ นิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออกยืนยัน
อาสาสมัครหนุ่มโชว์ภาพผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ประสบภัยจากรังสีนิวเคลียร์
พ.ต.อ.สุทิน พ่วงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย ให้ย้ายจุดยื่นหนังสือร้องเรียน
นายชวลิต พิชาลัย รองผอ.สนพ.ออกมาไกล่เกลี่ยให้ย้ายจุด พร้อมนัดแนะจุดยื่นหนังสือเป็นบริเวณด้านหน้าโรงแรม
นายชวลิต รับฟังเหตุผลและรับหนังสือแทนนางพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ
กำลังโหลดความคิดเห็น