หากรัฐบาลตัดสินใจเอา "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" อีก 10 ปีข้างหน้าเราสร้างบุคลากรไม่ทันอย่างแน่นอน เป็นความกังวลที่ผู้ใหญ่ในวงการต้องหาทางออก โดยเริ่มจากการจุดประกายความสนใจเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ที่จะกลายเป็น "แรงงาน" สำคัญในอนาคตผ่านค่าย "อะตอมจูเนียร์แคมป์"
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และคณะสื่อมวลชนได้มุ่งหน้าสู่ "ต้นซุงรีสอร์ท" ในจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นที่หมายของเยาวชน ม.ปลายเกือบร้อยคนในค่าย "อะตอมจูเนียร์" (Atom Junior Camp) ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย.51 และได้ประกาศรับสมัครไปเมื่อปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา โดยประกาศรับเฉพาะเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีผู้ยื่นใบสมัครทั้งหมด 47 ทีมๆ ละไม่เกิน 3 คนและคัดเลือกเหลือ 32 ทีมจากการส่งเรียงความเข้าประกวดในหัวข้อเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน
ตามคำอธิบายของ นางวราภรณ์ วัชรสุรกุล หัวหน้าโครงการค่ายอะตอมจูเนียร์และวิศวกรนิวเคลียร์ สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งสรุปกิจกรรมให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอื่นๆ ฟังนั้น ค่ายที่ ปส.จัดขึ้นนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเยาวชน
เพื่อลงมือประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบคุมแบบจำลองหรือซิมูเลเตอร์ (Simulator) ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าจำลอง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แต่ละทีมประดิษฐ์ขึ้นจะนำไปใช้ในการแข่งขันบังคับรถไฟฟ้าจำลองและหาผู้ชนะเลิศในเดือน ก.ค.
เหตุผลของการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นก็เพื่อจุดประกายความสนใจเยาวชนในเรื่องนิวเคลียร์ โดยวิศวกรนิวเคลียร์แห่ง ปส.ระบุว่า หากรัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีก 10 ปีจะไม่มีบุคลากรที่จะดูแลในเรื่องนี้และต้องว่าจ้างต่างชาติทั้งหมดเข้ามาดูแล จึงจำเป็นต้องเริ่มสร้างบุคลากรตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของไทยต้องว่าจ้างต่างชาติอย่างแน่นอน 100% แต่โรงไฟ้านิวเคลียร์โรงถัดๆ ไปจะต้องลดการพึ่งพาต่างชาติลง
"ค่ายนี้เป็นการจุดประกายให้เด็กสนใจนิวเคลียร์ ก็คาดว่าจะมีค่ายแบบนี้ต่อไปทุกปี เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้าใจทางด้านนิวเคลียร์และเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ใช่แค่มาจากการอ่านข่าว เราอยากสร้างสังคมที่ตัดสินใจบนความรู้ โดยบทบาทของ ปส.คือกำกับดูแลความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องใช้ข้อมูลโดยทั่วไปของนิวเคลียร์ในฐานะผู้กำกับดูแล" นางวราภรณ์กล่าว
หลังการอบรมครั้งนี้จะแบ่งเยาวชนออกเป็น 4 สายๆ ละ 8 ทีมเพื่อแข่งขันบังคับรถไฟฟ้าผ่านเครื่องควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแบบจำลองเครื่องปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทีมที่ทำความเร็วได้ดีที่สุด 2 ทีมในแต่ละสายจะไปพบกันในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศวันที่ 12 ก.ค.51 เพื่อชิงทุนการศึกษา 50,000 บาท
จากการสังเกตบรรยากาศภายในค่ายผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เห็นรูปแบบกิจกรรมที่เน้นให้ความรู้วิชาการทางด้านนิวเคลียร์ โดยมีวิทยากรเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ โดยภายในค่ายยังมี "พี่เลี้ยง" จากชมรมธนบุรีโรบอตคอนเทสต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และอาจารย์ที่ปรึกษาจากแต่ละโรงเรียนร่วมถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่เยาวชนด้วย
น.ส.ปภาวรินทร์ โพธิ์ชัย นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสีกัน (วัฒนานันท์อุปถัมภ์) หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมระบุว่า ความรู้ที่วิทยากรให้นั้นเป็นเนื้อหาที่ยังไม่ได้เรียนและมาค่ายหนนี้ตั้งใจมาเรียนพื้นฐานและหาความรู้เพิ่มเติม เช่นเดียวกับนายปิติพัฒน์ เพ็ญภาคกุล นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนเดียวกัน ส่วนนายณพสิทธิ์ พิพิธพัฒนาปราปต์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ระบุว่าสมัครมาค่ายครั้งนี้เพราะสนใจกิจกรรมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในค่าย
ทางด้าน นายจักรกริช ศรีงามผ่อง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พี่เลี้ยงในค่ายบอกกับผู้จัดการวิทยาสาสตร์ว่าสัมครใจเข้าค่ายนี้เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ เนื่องจากนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เรียนตั้งแต่ ม.ปลาย เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เรียนอีกเลย
ในขณะที่ผู้ใหญ่เป็นกังวลว่าจะขาดแคลนบุคลากรในการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงถือโอกาสสอบถามทัศนคติของเยาวชนทั้งสี่ต่อโรงไฟฟ้าประเภทนี้ โดยณพสิทธิ์มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งมีต้นทุนถูกและเป็นตัวเลือกที่ดีแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกโรงไฟฟ้าประเภทนี้ คล้ายคลึงกับความเห็นของปภาวรินทร์ ปิติพัฒน์และจักรกริช ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากพลังงานด้านอื่นไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ดีเมื่อถามว่าเมืองไทยพร้อมแค่ไหนที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้รับคำตอบจากทั้งสี่คนว่ายังไม่พร้อม โดยในส่วนของปิติพัฒน์ระบุว่าเป็นเรื่องยากเพราะคนส่วนใหญ่ยังมองเป็นเรื่องอันตราย ขณะที่ณพสิทธิ์เปรียบเทียบว่าเหมือนการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ หากทำได้มาตรฐานก็จะดีมาก
สำหรับค่ายอะตอมจูเนียร์ถือเป็นก้าวแรกในการเผยแพร่ความรู้นิวเคลียร์ในเชิงรุกแก่สาธารณะของ ปส. ส่วนความสำเร็จจะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่? คงต้องพิสูจน์กันในก้าวต่อๆ ไป