xs
xsm
sm
md
lg

ล้อมคอก นร.พังก์ ศธ.ออกกฎคุมทรงผม-สีผม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยกลัวว่าเด็กไทยวัยเรียนจะนิยมเปลี่ยนสีผมตามแบบแฟชั่นญี่ปุ่น
กระทรวงศึกษาฯเตรียมออกกฎล้อมคอกทรงผมนักเรียน หวั่นเด็กทำทรงผมพังก์-ย้อมหัวทองเต็มโรงเรียน ปลัด ศธ.เกรงมีกระแสต้าน สั่งรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบ ด้านผู้บริหารสถานศึกษายกมือหนุน ชี้แฟชั่นทรงผม นักเรียนเป็นปัญหาหนักอก กระทบผลการเรียน เพราะสนใจแต่ตามแฟชั่น

วานนี้ (1 พ.ค.) ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ ปิ่นเกล้า นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ... โดยมีผู้บริหารโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ผู้แทนนักเรียน รวมประมาณ 50 คน เข้าร่วมรับฟัง ว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ต้องออกตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 โดยจะได้รวบรวมระเบียบฯ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนที่มีอยู่เดิมทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบฯ เครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนเอกชน เครื่องแบบสำหรับนักเรียนมุสลิม เครื่องแบบสำหรับนักเรียนในภูมิภาค และเครื่องแบบนักเรียนด้อยโอกาสไว้ด้วยกัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมในส่วนของเครื่องแต่งกายนักเรียนสังกัดสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วย

นอกจากนั้น ยังได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มในระเบียบ ให้สถานศึกษามีอำนาจพิจารณาลงโทษทางวินัยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน และนักศึกษาตามความเหมาะสม ในกรณีนักเรียนหลีกเลี่ยงไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนตามที่สถานศึกษากำหนด อาทิ ไม่แต่งกายชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ชุดกีฬา ชุดพื้นเมือง ตามวันที่สถานศึกษากำหนด

“ที่ประชุมยังได้เสนอว่า นอกจากที่จะกำหนดระเบียบในเรื่องของเครื่องแบบนักเรียนแล้ว ทรงผมนักเรียนในขณะนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ และต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่มากับยุคสมัย โดยปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่นิยมทำผมทรงพังก์ ทรงแฟชั่นญี่ปุ่น โกรกผมสีทอง ซึ่งในอดีตเคยมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 กำหนดเรื่องทรงผมนักเรียนไว้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ ประกาศดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป อีกทั้งในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้มีการกำหนดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนที่ต้องได้รับการควบคุม 9 ข้อ อาทิ กรณีหนีเรียน เสพยาเสพติด ชู้สาว ทะเลาะวิวาท พร้อมทั้งได้มีการกำหนดมาตรฐานโทษไว้ แต่ก็ไม่มีการกำหนดในส่วนของการแต่งกาย และทรงผมของนักเรียนนักเรียนว่าลักษณะใดที่ถือว่าไม่เหมาะสม” นางจรวยพร กล่าว

นางจรวยพร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรให้มีการกำหนดลักษณะทรงผมที่เหมาะสมของนักเรียน แต่จะให้มีการยืดหยุ่น ไม่ตึงจนเกินไป ไม่ใช่ว่ากำหนดให้นักเรียนจะต้องตัดผมถูกระเบียบ หรือ “ทรงพวงมาลัย” เพียงอย่างเดียว อาจจะอนุญาตให้มีระดับสั้น กลาง ยาวได้ โดยถ้าไว้ผมยาวก็ต้องถักเปียให้เรียบร้อย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องรับฟังความเห็นและพิจารณาให้รอบคอบ เพราะที่ผ่านมา ศธ.ก็เคยพยายามออกแนวปฏิบัติในเรื่องของทรงผมนักเรียนแล้ว แต่ก็มีกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วย จึงได้ยกเลิกไป ซึ่งก็เข้าใจดีว่าในสายตาครูอาจารย์เองก็อยากให้นักเรียนมีทรงผมเรียบร้อย ในด้านผู้ปกครองก็อาจจะอยากให้โรงเรียนมีความยืดหยุ่น ในขณะที่นักเรียนเองก็ต้องการความทันสมัย ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรับฟังความเห็นและดูกันทุกประเด็นรวมทั้งว่าจะเป็นปัญหาหรือกระทบกับสิทธิมนุษยชนของเด็กหรือไม่ ทั้งนี้หากมีการกำหนดระเบียบในส่วนของทรงผมนักเรียน ก็จะมีผลบังคับทั้งในโรงเรียนรัฐและเอกชน

ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในเป็นส่วนของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ว่า โรงเรียนจะต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และมีระบบดูแลความปลอดภัยนักเรียนนั้น คงต้องมาทบทวนว่า ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมากควรจะมีมาตรการในการรับมือปัญหาที่เข้มข้นขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ซึ่งพัฒนาไปจากเดิมมา อาทิ ยาเสพติดจากสูตร 4x100 เพิ่มเป็นสูตร 8x100 ดังนั้น ควรที่จะมีการกำหนดแนวทางดูแลและกำหนดโทษเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับยุคสมัยและทันต่อสถานการณ์หรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีของเด็กบางกลุ่มที่ไม่สามารถเยียวยาแก้ปัญหาด้วยวิธีปกติ คือ 1.กล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเสนอให้มีการเพิ่มโทษขั้นที่ 5 คือ พักการเรียน ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมปรับพฤติกรรม

นางจรวยพร กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ ยังมีแนวคิดในการจูงใจและกระตุ้นให้ครูสนใจปัญหาเด็กและเยาวชนมากขึ้น อาจจะนำวิธีการของ ป.ป.ส.มาใช้ เช่น การปูนบำเหน็จ 2 ขั้น ให้กับครูที่เสนอโครงการและมีผลงานที่ส่งเสริมศีลธรรมและความประพฤติเด็ก เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) ปูนบำเหน็จ 2 ขั้นให้กับผู้ที่ทำความดีด้านการแก้ไขปัญหาเสพติด อย่างไรก็ตามประเด็นนี้คงต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ศึกษาความเป็นไปได้ และกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเสนอให้ที่ประชุมองค์กรหลัก ศธ.พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป

ด้าน นางนวลจันทร์ บุญอาจ ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล โรงเรียนศึกษานารี กล่าวว่า ปัญหาแฟชั่นทรงผมนักเรียนเป็นปัญหาของทุกโรงเรียนในขณะนี้ ซึ่งในอดีตกฎของโรงเรียนจะห้ามไม่ให้นักเรียนซอยผม แต่ในปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งก็อะลุ้มอล่วยให้นักเรียนสามารถซอยผมบางๆ ได้อยู่แล้ว แต่เมื่ออนุญาตแล้วก็ไม่สามารถควบคุมได้ นักเรียนมักจะมีทรงผมแปลกๆ ที่รับอิทธิพลมาจากภายนอกมากเข้าจนโรงเรียนรับไม่ไหว และต่อไปอาจจะมีผมทรงพังก์ ทำสีทอง เข้ามาในโรงเรียน นอกจากนั้น ปัญหาแฟชั่นทรงผมของนักเรียนยังเป็นเรื่องที่กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนในหลายด้าน เพราะนักเรียนจะมัวเสียเวลาไปกับการแข่งขันกันทำผมทรงใหม่ๆ เพราะอยากให้ตัวเองทันแฟชั่นเหมือนคนอื่นๆ จนไม่มีกระจิตกระใจเรียนหนังสือได้

น.ส.ชนกานต์ วิภูสมิทธ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้คัดค้านหาก ศธ.จะกำหนดระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ควรยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับยุคสมัย แม้ว่าผู้ใหญ่จะบอกว่าทรงผมมีผลกับการเรียนของนักเรียน แต่ก็เชื่อว่าคงจะเป็นไปไม่ได้ถ้าจะห้ามไม่ให้เด็กทำผมตามแฟชั่นเลย ดังนั้นถ้าจะมีการกำหนดจริงๆ ก็ต้องยืดหยุ่นกันบ้าง และคงต้องขึ้นอยู่กับสำนึกของแต่ละคนด้วยว่าจะทำในระดับไหนที่ดูสวยงาม แต่เคารพชุดนักเรียน นักศึกษาที่สวมใส่อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น