หลายคนสงสัยกันมากว่า ทำไมต้องมีการสอบเทียบเครื่องมือวัดให้ได้มาตรฐานสากล ก็ให้ท่านลองนึกถึงว่า หากเราซื้อรถยนต์คันใหม่ป้ายแดงมาขับได้ไม่กี่วัน ก็พบปัญหาเสียแล้ว, ซื้อสร้อยคอทองคำจากร้านทองที่เครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐาน หรือจะเกิดอะไรขึ้นหากสินค้าส่งออกของไทย ไม่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เหล่านี้เป็นบทบาทสำคัญของการ "วัด" ซึ่งเครื่องมือในไทยมีการเทียบมาตรฐานเพียง 5 แสนชิ้น จาก 8 ล้านชิ้น หรือแค่ 5% เท่านั้น
วันที่ 20 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันมาตรวิทยาโลก อีกทั้งวันที่ 1 มิ.ย.51 ก็เป็นวันครบรอบ 10 ปี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ของประเทศไทย และเนื่องในโอกาสนี้ มว.จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "ทำอย่างไรการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก" ณ ห้องคอนแวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมกับสื่อมวลชนอีกมากมายก็ได้ไปร่วมงานดังกล่าวด้วย
"ทำอย่างไรการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก" คือหัวข้อในการบรรยายเรื่องแรกและเรื่องเด่นของงาน โดย พล.อ.ต. ดร.เพียร โตท่าโรง ผอ.มว. เป็นผู้บรรยาย ซึ่งคำตอบที่ ดร.เพียร มีให้ต่อคำถามตามที่จั่วหัวไว้ก็เป็นคำตอบสั้นๆ ง่ายๆ และได้ใจความว่า "ผลการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ จะต้องสามารถสอบกลับได้สู่หน่วยวัดสากล"
แล้วจะมีวิธีสอบกลับสู่หน่วยวัดสากลได้อย่างไร? ข้อสงสัยของเหล่าสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามต่อ ผอ.มว. และก็ได้คำตอบมาว่า กระทำได้โดยการสอบเทียบเครื่องมือกับสถาบันมาตรวิทยาฯ นั่นเอง
"ผลการวัดจะต้องอ้างอิงกลับสู่หน่วยวัดสากลได้ ซึ่งหน่วยวัดเหล่านั้นทาง มว. ได้สถาปนาขึ้นแล้ว ตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในทุกๆ ประเทศ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ สามารถสอบเทียบเครื่องมือกับ มว. เพื่อให้ได้มาตรฐานตรงตามหน่วยวัดสากลได้ ก็จะสามารถอ้างอิงกลับสู่หน่วยวัดสากลได้เช่นกัน" ดร.เพียร อธิบาย
อีกทั้งเขายังบอกว่า ขณะนี้ มว. สามารถพัฒนาหน่วยวัดของประเทศไทย จนได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้วจำนวน 431 รายการวัด ซึ่งครอบคลุมหน่วยวัดพื้นฐานต่างๆ แต่ยังมีหน่วยวัดบางรายการที่อยู่ระหว่างกำลังพัฒนา เช่น เครื่องมือวัดแรงระดับสูง และเครื่องมือวัดทางไฟฟ้าระดับสูง ที่แม้จะไม่ค่อยใช้กันแพร่หลาย แต่ก็ต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากลเช่นกัน
ทั้งนี้ มว. ถือเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเครื่องมือวัดต่างๆ จากนั้นนำไปสอบเทียบกับหน่วยวัดสากล แล้วจึงสถาปนาให้เป็นหน่วยวัดแห่งชาติ เพื่อที่จะใช้สอบเทียบให้กับห้องปฏิบัติการสอบเทียบต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 130 แห่ง
อย่างไรก็ดี ดร.เพียร เผยตัวเลขที่น่าตกใจว่าจากการสำรวจ พบว่าขณะนี้ในประเทศไทยมีเครื่องมือที่ได้รับการสอบเทียบอย่างถูกต้องเพียง 5 แสนชิ้น หรือราว 5% เท่านั้น จากเครื่องมือวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 8 ล้านชิ้น
ขณะนี้ทาง มว. ก็เร่งผลักดันให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของมาตรวิทยาและการสอบเทียบเครื่องมือ เพราะมาตรวิทยานั้นสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก เป็นข้อมูลที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคในประเทศได้ และสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
"ขณะนี้ยังมีช่องว่างระหว่างอุตสาหกรรมกับมาตรวิทยา เพราะเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและเห็นความสำคัญของเรื่องการสอบเทียบ เช่น เมื่อใช้เครื่องมือไปนานๆ ก็อาจมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ เว้นแต่อุตสาหกรรมที่ต้องการคุณภาพระดับสูงและบังคับให้มีการสอบเทียบเครื่องมือ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้นหากต้องการให้เอกชนเห็นความสำคัญของการสอบเทียบเครื่องมือ ก็ควรมีการพัฒนาระบบคุณภาพควบคู่กันไปด้วย" ดร.เพียร เผย
ปัญหาอีกประการหนึ่งของประเทศไทยคือ ประชาชนยังขาดความรู้ในเรื่องมาตรวิทยา ซึ่ง ดร.เพียร เผยว่า ทุกคนรู้จักหน่วยวัด แต่ไม่รู้ว่ามาตรวิทยาคืออะไรและสำคัญอย่างไร ทาง มว. ก็มีนโยบายในการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนด้วย ผลักดันให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ บรรจุมาตรวิทยาเป็นวิชาหนึ่งในบทเรียน ตลอดจนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และกระทรวงแรงงานเพื่อให้มีห้องปฏิบัติการสอบเทียบในภูมิภาคมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่กว่า 80% มีอยู่ในส่วนกลาง.