xs
xsm
sm
md
lg

"สลอธ" ไม่ได้ขี้เกียจอย่างที่คิด ผลวิจัยชี้นอนมากกว่าคนหน่อยเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สลอธ 3 นิ้ว ที่ถูกจัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เชื่องช้ามากที่สุดในโลก เดิมทีนักวิทยาศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมของสลอธที่ถูกขังอยู่ในกรงก็พบว่ามันนอนวันละ 16 ชม. ทำให้สลอธกลายเป็นนิยามของคำว่า ขี้เกียจ ไปโดยปริยาย (ภาพจาก BBC NEWS)
ใครที่คิดว่า "สลอธ" เป็นจอมขี้เกียจ นอนขี้เซามากตั้งวันละ 16 ชั่วโมง อาจต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะผลการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่า เจ้าสัตว์ป่าน่ารักน่าชังตัวนี้ มีเวลานอนเฉลี่ยไม่เกิน 10 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าข้อมูลเดิมที่เรารู้กัน เลยทำให้หลงนึกกันว่าสลอธเป็นสัตว์ที่ขี้เกียจเอามากๆ ไปได้

ทีมนักวิจัยทางด้านปักษิณวิทยาของสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute for Ornithology) เมืองสตาร์นแบร์ก (Starnberg) เยอรมนี ศึกษาพฤติกรรมการนอนหลับของสลอธ (sloth) ในป่า ทำให้ได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ ที่สามารถหักล้างฉายาว่าเป็นจอมขี้เกียจและเชื่องช้าที่สุดในโลกได้ และได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยลงในวารสารไบโอโลจีเล็ตเตอร์ (Biology Letters) ของราชบัณฑิตยสภาแห่งอังกฤษ (Royal Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

จากข้อมูลและความรู้เดิมที่ว่า "สลอธ" เป็นสัตว์ที่มีเวลาพักผ่อนนอนหลับมากถึง 16 ชั่วโมง ทำให้นักวิทยาศาสตร์และใครต่อใคร พากันเข้าใจว่าสลอธเป็นสัตว์ที่เชื่องช้าและขี้เกียจเอามากๆ ถึงกับว่าใครที่ขี้เกียจหรือมีพฤติกรรมอย่างนี้ก็จะถูกนำไปเปรียบกับเจ้าสลอธ

สลอธเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีขนปกคลุม ขนาดพอกันกับแรคคูน โดยปกติอาศัยอยู่บนยอดไม้ในป่าฝนเขตร้อน กินใบไม้และผลไม้เป็นอาหาร แต่ธรรมชาติของสลอธเป็นสัตว์ที่เชื่องช้ามาก ถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เชื่องช้าที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ แม้แต่การย่อยอาหารก็กินเวลาเป็นเดือนเลยทีเดียว

ทว่าล่าสุด มีรายงานจาก ดร.นีลส์ แรตเทนบอร์ก (Dr.Niels Rattenborg) หัวหน้าทีมวิจัย ที่ได้ศึกษาพฤติกรรมการนอนหลับของสลอธที่อาศัยอยู่ในป่า พบว่าแท้ที่จริง สลอธมีเวลานอนหลับวันละไม่เกิน 10 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าที่เข้าใจกันถึง 6 ชั่วโมงเลยทีเดียว

"ข้อมูลที่ได้ใหม่นี้ น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงว่าสลอธไม่ได้ขี้เกียจ และเอาแต่นอนอย่างที่เราคิดกัน และต่อไปนี้คงจะให้นิยามว่า เหมือนสลอธได้ ก็แค่ในด้านความเชื่องช้าในการเคลื่อนไหวของมันเท่านั้น ส่วนในแง่ของการนอนหลับหรือความขี้เกียจนั้นคงใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว" ดร.แรตเทนบอร์ก กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี

รายงานจากบีบีซีนิวส์ระบุอีกว่า นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาการนอนหลับในสัตว์ป่า โดยทีมนักวิจัยได้ติดอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณการนอนหลับ จากคลื่นสมองให้กับสลอธชนิดแบรดิพุส แวริเอกาตัส (Bradypus variegatus) หรือสลอธ 3 นิ้ว คอสีน้ำตาล (brown-throated three-toed sloth) เพศเมียจำนวน 3 ตัว ที่อาศัยอยู่ในป่าฝนใกล้กับสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียน (Smithsonian Tropical Research Institute) บนเกาะบาร์โร โคโลราโด ประเทศปานามา

หลังจากนั้นก็ปล่อยสลอธทั้ง 3 ตัว เข้าไปใช้ชีวิตในป่าตามปกติ พอ 3-5 วันให้หลัง ก็จับสลอธชุดเดิมกลับมาศึกษาข้อมูลที่บันทึกได้จากอุปกรณ์ดังกล่าว ผลปรากฏว่าช่วงเวลาระหว่างนั้น สลอธฝูงนี้นอนหลับเฉลี่ยวันละ 9.6 ชั่วโมง จากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้าระบุว่าสลอธนอนวันละ 16 ชั่วโมง ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาพฤติกรรมของสลอธ ที่ถูกกักขังอยู่ในกรง ไม่ได้ศึกษาจากสลอธที่อยู่ในป่าตามธรรมชาติแต่อย่างใด

ในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม ยังได้รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงเวลานอนหลับโดยเฉลี่ยของสลอธนั้น ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเฉลี่ย ที่คนเรานอนหลับในแต่ละวันอีกด้วย

สลอธจะนอนมากกว่าคนราว 2 ชั่วโมง และยิ่งกว่านั้นคือเมื่อสลอธนอนหลับไปได้ 2 ใน 3 ของเวลานอนแล้ว พวกมันจะตื่นขึ้นมากินและหาอาหาร แล้วจึงหลับต่อจนเต็มอิ่ม ซึ่งนักวิจัยยังพบพฤติกรรมลักษณะนี้ในสลอธอีก 2 ตัว ที่เฝ้าสังเกตนาน 7 เดือน

นักวิจัยเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เพราะเหตุใดสลอธที่อยู่ในป่ากับสลอธที่ถูกกักขังหรือถูกเลี้ยงไว้ในกรง จึงมีช่วงเวลานอนหลับยาวนานไม่เท่ากัน แต่ก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะสลอธป่าจำต้องออกหาอาหารด้วยตัวเอง และต้องระแวดระวังภัยจากศัตรูที่มีอยู่ในธรรมชาติ จึงทำให้ไม่อาจนอนหลับนับสิบกว่าชั่วโมงได้อย่างสบายใจ

ขณะที่สลอธในกรง ไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องอาหารหรือศัตรู เหมือนกับสลอธที่อยู่ในป่า จึงนอนหลับได้อย่างสบายอกสบายใจได้ทุกเมื่อ ที่นึกอยากจะงีบหลับ ซึ่ง ดร.นีล สแตนลีย์ (Dr.Neil Stanley) ผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติในการนอนหลับ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนอร์ฟอล์กและนอร์วิช (Norfolk and Norwich University Hospital) ประเทศอังกฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นไปได้ที่สัตว์ที่ถูกกักขัง มีแนวโน้มว่าจะนอนหลับมากกว่าปกติ ที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งโดยสัญชาตญาณแล้วสัตว์ป่าก็จะนอนน้อยกว่าสัตว์ที่อยู่ในกรง และผลวิจัยนี้ก็สนับสนุนนข้อมูลนี้ด้วย

ไม่ใช่ว่าแค่สงสัยในพฤติกรรมการนอนของเจ้าสลอธเท่านั้น ที่ทำให้นักวิจัยต้องพยายามหาคำตอบ ทว่าการที่ได้รู้ว่าสัตว์ชนิดไหนมีพฤติกรรมการนอนหลับอย่างไร และมากน้อยเพียงใด จะช่วยให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังพยายามทำความเข้าใจ บทบาทหน้าที่และประสิทธิภาพของการนอนหลับ  พร้อมหาแนวทางบำบัดรักษาผู้ป่วย ที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

เพราะแม้ว่าจะศึกษาวิจัยกันมานานหลายปีแล้วก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไขข้อข้องใจไม่ได้สักที รู้แต่เพียงว่าการนอนหลับ มีผลต่อการทำงานของจิตใจ แต่ยังไม่รู้กลไกที่แน่ชัด

"ไม่ว่าสัตว์แต่ละชนิดจะมีช่วงเวลานอนหลับมากกว่าหรือน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ย่อมมีนัยสำคัญที่บ่งบอกได้ถึงหน้าที่ของการนอนหลับ" ดร.แรตเทนบอร์ก กล่าว.
สลอธจะใช้เวลาส่วนมากอยู่บนต้นไม้ และข้อมูลใหม่พบว่าสลอธไม่ได้ขี้เกียจและนอนมากอย่างที่คิด เพราะสลอธป่านอนหลับเฉลี่ยวันละไม่เกิน 10 ชม. มากกว่าคนแค่ 2 ชม. (ภาพจาก BBC NEWS)
กำลังโหลดความคิดเห็น