xs
xsm
sm
md
lg

อุรังอุตังก็ใช้เงินเป็นนะ แถมมีน้ำใจซื้อกล้วยเลี้ยงเพื่อนด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยสอนให้อุรังอุตังในสวนสัตว์รู้จักค่าของเงิน และพวกมันก็ใช้เงินซื้อกล้วยได้ด้วย (EPA)
ใครว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ใช้เงินเป็น อุรังอุตังก็ใช้เงินซื้อกล้วยเป็นเหมือนกัน และหากตัวไหนซื้อกล้วยให้เพื่อนอีกตัวแล้ว ถ้าเพื่อนไม่ยอมซื้อกล้วยตอบแทนให้ก็มีเคือง จนกว่าจะซื้อกล้วยมาง้อ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส (University of St Andrews) สหราชอาณาจักร ศึกษาพฤติกรรมของลิงอุรังอุตัง พบว่าพวกมันสามารถเรียนรู้ค่าของเงิน และใช้เงินแลกกล้วยให้กับตัวเองและเพื่อนได้ และอาจไม่ชอบใจหากเพื่อนลิงไม่ซื้อกล้วยให้ตัวเองบ้าง ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่านักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษานี้ลงในวารสาร ไบโอโลจี เลตเตอร์ส (Biology Letters) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการคำนวณเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันในสัตว์ตระกูลไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์

นักวิจัยศึกษาในลิงอุรังอุตัง 2 ตัว ของสวนสัตว์ไลป์ซิก (Leipzig Zoo) ในเยอรมนี คือ บีม (Bim) อุรังอุตังเพศผู้ และด็อก (Dok) เพศเมีย โดยพวกเขาแจกเงินเหรียญและสอนให้พวกมันรู้จักมูลค่าของเหรียญแต่ละประเภท

จากนั้นเจ้าอุรังอุตังทั้ง 2 ตัว ก็รู้จักใช้เงินเหรียญแลกเปลี่ยนเป็นกล้วยมากินกันอร่อย โดยเฉพาะด็อกที่รู้จักใช้เงินซื้อกล้วยให้บิม และบางทีบิมก็ให้เงินเป็นของขวัญแก่ด็อก โดยที่ไม่ค่อยจะสนใจใช้เงินซื้อกล้วยให้เพื่อนสาวสักเท่าไหร่

ขณะเดียวกันเมื่อด็อกเริ่มไม่ค่อยอยากซื้อกล้วยให้บิมแล้ว บิมก็ต้องพยายามซื้อกล้วยให้ด็อกบ้าง จนพวกมันได้พยายามทำให้กันได้อย่างเท่าเทียม

"สิ่งที่เราพบจากการศึกษานี้คือเบื้องหลังการให้สิ่งของต่อกันจะต้องมีการคิดคำนวณด้วย เช่นถ้าคุณให้ฉันได้ไม่เพียงพอกับที่ฉันอยากได้ ฉันก็จะไม่ให้คุณด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าคุณให้ฉันได้อย่างน่าพอใจ ฉันก็จะตอบแทนได้คุณเช่นกัน" แวเลอรี ดูโฟร์ (Valerie Dufour) หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ สัตว์จะมีการให้สิ่งของหรือบริการเพื่อแลกเปลี่ยนกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่นในสังคมสัตว์ไพรเมตที่มีการดูแลและสางขนให้แก่กันเป็นการแลกเปลี่ยน ทว่างานวิจัยก่อนหน้านี้ยังไม่เคยพบว่าในการแลกเปลี่ยนของสัตว์เหล่านั้นมีการคิดคำนวณแฝงอยู่ด้วย ซึ่งสัตว์เหล่านี้ยังมีการปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเองเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีกด้วย

"ไม่ได้มีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่คิดคำนวณถึงการให้แก่กัน และไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่คาดหวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนที่น่าพอใจจากอีกฝ่ายหนึ่ง อุรังอุตังก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน" ดูโฟร์ กล่าวกับบีบีซีนิวส์ แต่อย่างไรก็ตามผลการทดลองลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับชิมแปนซี และกอริลลา.
กำลังโหลดความคิดเห็น