xs
xsm
sm
md
lg

ท้อ พ.ร.บ.สัตว์ทดลองไม่ถึงไหน กฤษฎีกาตีกลับอ้างซ้ำซ้อน กม.สัตวแพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ประดน จาติกวนิช
อาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่ยานานาชนิดที่พิทักษ์ชีวิตมนุษย์อาจไม่น่าใช้อย่างทุกวันนี้ หากไม่ผ่านการทดสอบจากสัตว์ทดลอง รวมทั้ง "มาตรฐาน" ของสัตว์อาจส่งผลงานวิจัยผิดเพี้ยน จึงเกิดความพยายามจัดทำเป็น ร่าง พ.ร.บ.เสนอเป็นกฎหมายตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แต่ต้นปีกลับถูกตีกลับจากสำนักงานกฤษฎีกาให้ทบทวนอีกครั้ง

ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดของ พ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พ.ค.51 ว่า เขารู้สึกผิดหวังพอสมควรที่ร่าง พ.ร.บ.ถูกตีกลับ โดยสำนักงานกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ประเด็นใดๆ ให้ต้องแก้ไข เพียงแต่เสนอให้หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะกฎหมายของสัตวแพทย์สภาที่มีมาก่อนแล้ว

หากร่าง พ.ร.บ.ไม่ผ่าน ทุกอย่างที่พูดๆ กันมาก็เลื่อนลอย แต่ถ้ามีออกมาอย่างน้อยก็อ้างได้ว่าจะมีระเบียบวิธีอย่างไร จะต้องใช้อุปกรณ์หรือสถานที่เลี้ยงสัตว์อย่างไรให้ผลิตสัตว์ทดลองได้มาตรฐานสากล มีพันธุกรรมคงที่ ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องต้องทำตาม"

"แต่หากมองว่าเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์จะต้องเป็นของสัตวแพทย์ไปทั้งหมด อย่างนั้นก็ตาย ทำอะไรไม่ได้เลย แบบนี้งานประมงก็จะเข้าข่ายไปด้วยหรือ
” ดร.ประดนย้อนถาม

ประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ แจกแจงด้วยว่า เท่าที่มีการประชาพิจารณ์ 2 ครั้งในปี 48 และ 49 ยังไม่พบข้อท้วงติงใดๆ จากสัตวแพทย์สภาเลย อีกทั้งมั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่มีความซ้ำซ้อนดังที่สำนักงานกฤษฎีกาอ้าง ซึ่งข้อติดขัดนี้ยังจะทำให้กฎหมายป้องกันการทรมานสัตว์ที่ผลักดันโดยกรมปศุสัตว์จะพบปัญหาไม่ต่างกันด้วย

คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คือคนที่ไม่ได้ทำวิจัย และไม่ติดตามความก้าวหน้าของโลก เพราะหากไม่ทดลองในสัตว์ก็จะไม่สามารถทำสอบในคนได้ ถ้าเป็นยาก็ขึ้นทะเบียนไม่ได้ เราก็ต้องซื้อยาต่างประเทศอย่างเดียว หรือหากใช้สัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลวิจัยที่ได้ก็ไม่สามารถตีพิมพ์ให้เป็นที่ยอมรับ การลงทุนในงานวิจัยนับล้านบาทก็เสียเปล่า” รศ.โสภิต ธรรมอารี คณะกรรมการกำกับดูแลการใช้งานสัตว์ทดลอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเผย

ขณะที่บทลงโทษในกฎหมาย ซึ่งนักวิจัยบางส่วนไม่เห็นด้วยนั้น รศ.โสภิต กล่าวว่า ย่อมเป็นธรรมดาของกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายใดในโลกที่ไม่มีบทลงโทษ กระนั้นบทลงโทษที่กำหนดขึ้นก็มีระดับของการลงโทษหลายระดับ โดยมากมักเป็นการตักเตือน และไม่มีบทลงโทษทางอาญาอื่นๆ โดยจากประสบการณ์ในต่างประเทศยังไม่เคยพบผู้ใดถูกลงโทษด้วยกฎหมายสัตว์ทดลองแม้แต่รายเดียว

อย่างไรก็ดี ดร.ประดน เสริมว่า ทางออกในขณะนี้จึงเป็นการผลักดันการใช้จรรยาบรรณสัตว์ทดลองอย่างเข้มแข็งซึ่งพอแก้ขัดได้ โดยคณะทำงาน ร่าง พ.ร.บ.ยังคงยืนยันเสนอร่างฉบับเดิมผ่านคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้งภายในเดือนหน้า

ทั้งนี้ ดร.ประดน เป็นแกนนำในการผลักดันร่างพ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้งานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ...มาตั้งแต่ ธ.ค.47 เป็นต้นมา โดยจัดการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว 2 ครั้ง เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้มีการเลี้ยงและใช้สัตว์ทางวิทยาศาสตร์ได้ตามมาตรฐาน ถูกต้องตามหลักจริยธรรม เป็นที่ยอมรับของสากล โดยต้องทำให้สัตว์กินดี อยู่ดี สุขภาพดี ไม่เครียด และไม่ติดเชื้อ.
รศ.โสภิต ธรรมอารี
 หนูพุก หนึ่งในสัตว์นานาชนิดที่ตกเป็นเครื่องมือในการทดลองอาหาร เครื่องดื่ม ยา วัคซีน ฯลฯ ทว่า ร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและการใช้งานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ... เพื่อให้มีการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองที่เหมาะสมสมกับคุณูปการของมันก็ยังไม่ผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้สักที แม้จะมีการผลักดันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น